×

โบรก-บลจ. ขานรับ Digital Asset เน้นที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง มองเป็นโอกาสลงทุน ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

01.12.2021
  • LOADING...
Digital Asset

โบรกเกอร์-บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ขานรับตลาดหลักทรัพย์พร้อมลุยตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลปีหน้า บลจ.วรรณ ตั้งเป้าเป็นผู้นำออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย มองเป็นโอกาสทางธุรกิจ ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนรุ่นใหม่

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า บริษัทสนใจที่จะเข้าไปทำธุรกิจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน หรือ Digital Asset ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง โดยมองว่ามีโอกาสเติบโตในอนาคตอย่างมาก

 

“เราสนใจที่จะเข้าไปในตลาดนี้ วันนี้ผมตีกรอบไว้ว่าจะทำเฉพาะ Digital Asset ที่มีสินทรัพย์หนุนหลังอยู่ ถ้าถามว่าปริมาณในตลาดนี้ ณ ขณะนี้เป็นอย่างไร ก็ถือว่ายังน้อยอยู่มาก และในอนาคตก็มองว่าคงจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเยอะแบบมากๆ แต่เราก็ไม่อยากทิ้งโอกาสตรงนี้ไป

 

“ปริมาณที่เราเห็นซื้อขายกันอยู่ทุกวันนี้ยังเป็นการซื้อขายที่กระจุกตัวอยู่ในเหรียญที่เป็นเงินตราคือคริปโตเคอร์เรนซี เช่น บิทคอยน์​หรือเหรียญหลายเหรียญที่ออกมาไม่มีอะไรหนุนหลัง เราจะไม่ทำ เราจะทำเฉพาะสินทรัพย์ที่เราประเมินมูลค่าได้ เราวิเคราะห์ เราประเมินมูลค่าบริษัทได้ เพราะเราถนัดในจุดนี้”

 

ไพบูลย์กล่าวว่า บล.ทิสโก้ จะทำหน้าที่ในตลาดแรกลักษณะเดียวกับตลาด IPO คือการหาลูกค้าที่ต้องการระดมทุนด้วยการออกและเสนอขายดิจิทัลโทเคนเพื่อขายให้กับผู้ลงทุน จากนั้นจะนำเข้าซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมีการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ โดยเป็นการซื้อขายบนระบบบล็อกเชน

 

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นประเมินว่า สินทรัพย์ที่จะถูกนำมาใช้หนุนหลังการออกดิจิทัลโทเคนอาจเป็นหุ้นของกิจการนั้นๆ หรือมูลค่าบริษัทนั้นๆ หรือรายได้ของสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ รวมทั้งอาจจะครอบคลุมถึงตราสารหนี้ที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลถืออยู่

 

“เดิมเรามี IPO ต่อมาเมื่อมีการออกเหรียญก็เรียกว่า ICO แต่หลังจากนี้ เราจะมี STO คือ Security Token Offering เป็นการขายสินค้าในตลาดแรก”

 

ไพบูลย์ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยแสดงความเชื่อมั่นว่า การเกิดขึ้นและเติบโตอย่างมากของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล จะไม่ทำให้ ตลท. และการซื้อขายด้วยระบบเดิมถูกดิสรัปต์ในอนาคต แต่มองว่าทั้งสองตลาดจะเดินควบคู่กันในฐานะแหล่งระดมทุนเพื่อนำไปขยายธุรกิจ รวมถึงการเป็นแหล่งในการสร้างเงินออมให้กับผู้ลงทุนซึ่งมีพฤติกรรมและความชอบในการลงทุนที่แตกต่างกัน

 

“การไปเทรดบนบล็อกเชนผู้ลงทุนต้องสามารถดูแลตัวเองได้ คนรุ่นใหม่จะชอบแบบนี้คือ คิดเอง ตัดสินใจเองได้หมด ไม่มีใครมายุ่งด้วย ระบบจะทำหน้าที่ของมันเอง แต่บ้านเรายังมีนักลงทุนที่ต้องการบริการ ต้องการคำแนะนำอยู่ ดังนั้นผมคิดว่าทั้งสองโลกก็จะเดินไปควบคู่กัน”

 

พจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ กล่าวว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยการจัดตั้ง บล.ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น เพื่อทำธุรกิจเวลท์แบบครบวงจร ในฐานะตัวแทนและนายหน้าแนะนำการจัดสรรการลงทุนแล้วนั้น บริษัทแห่งนี้มีแผนจะยื่นขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลต่อไป เนื่องจาก บลจ.วรรณ มีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโต ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า ซึ่งเบื้องต้นการเข้าไปในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะเริ่มต้นจากสินค้าในต่างประเทศก่อน

 

ขณะที่ในประเทศ บลจ.วรรณ จะเชื่อมโยงการทำงานกับ ตลท. ที่จะมีการออกโทเคนที่มีลักษณะคล้ายๆ Convertible Bonds หรือเหรียญที่มีสินทรัพย์หนุนเป็นหุ้น

 

“เรากำลังคุยกับ ตลท. อยู่ เราจะทำหน้าที่สร้าง Portal รองรับ สิ่งที่ ตลท. จะทำ แต่การที่เราจะไปถึงจุดนั้นผมเชื่อว่าอาจจะต้องใช้เวลา เพราะฐานลูกค้าที่เรามีอยู่เป็นกลุ่มคนมีอายุ เราจึงมาเร่งสร้างฐานจากบัญชีออนไลน์เพื่อขยายกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปีหน้าเราตั้งเป้าว่าจะดันให้ได้ 6-7 แสนบัญชี เพื่อให้ง่ายต่อการเดินไปในจุดนั้น”

 

พจน์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าในส่วนของ บลจ.วรรณ อาจใช้วิธีตั้งกองทุนทริกเกอร์ฟันด์เข้าไปลงทุนในดิจิทัลโทเคน เริ่มต้นจากการเข้าไปลงทุนในโทเคนที่ให้ผลตอบแทนชัดเจน เช่น จ่ายปันผลระดับ 8% เป็นระยะเวลา 3 ปี จากนั้นสามารถนำเหรียญมาแปลงสภาพเป็นหุ้นของกิจการ ซึ่งกองทุนสามารถเปลี่ยนมือได้ทั้งในช่วงที่ถือโทเคนหรือถือหุ้น หากผลตอบแทนถึงระดับที่ตั้งไว้

 

นอกจากนี้ บลจ.วรรณ ยังศึกษาการจัดตั้งกองทุน ETF สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะไม่ใช่การลงทุนโดยตรง แต่จะมีการดีไซน์กองทุนให้มีความน่าสนใจและตรงกับความต้องการของผู้ลงทุน

 

“ต่อไป บลจ.วรรณ ในฐานะยานแม่ จะออกสินค้าเป็นกองทุนที่ Combine ได้ ทั้ง ICO, IPO, Secondary Market และ Private Equity”

 

พจน์กล่าวว่า บลจ.วรรณ ตั้งเป้าหมายในการเป็น บลจ. แห่งแรกที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยในปีหน้า จากนั้นจะมีการพัฒนาเพื่อออกกองทุนที่เกี่ยวข้องกับธีมการลงทุน Metaverse ในอนาคต

 

ด้าน วศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า ปัจจุบันการเข้าไปทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลของ บลจ. ยังต้องพิจารณาใน 2 ประเด็นหลัก คือ 

 

  1. กฎหมายที่ใช้กำกับ บลจ. แตกต่างและเป็นคนละฉบับกับสินทรัพย์ดิจิทัล
  2. กำไรที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องเสียภาษี

 

ดังนั้นแม้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างมาก แต่คาดว่าจะเป็นเพียงสินทรัพย์ทางเลือกที่จะถูกนำเข้าจัดสรรในพอร์ตได้ไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่สินทรัพย์ทางเลือกจะถูกให้น้ำหนักราว 5-10% ของพอร์ต

 

“เรื่องนี้เป็นกระแสที่ต้องจับตา เพราะกฎหมายก็อยู่คนละฉบับกัน ถ้าทางการสรุปว่าให้ทำได้ ก็ต้องไปขออนุญาตจาก ก.ล.ต. แต่ก็มีคำถามอีกว่า สินทรัพย์ประเภทนี้จะมีสภาพคล่องมากน้อยแค่ไหน เหมาะสมไหมที่กองทุนจะเข้าไปลงทุนแล้วยังต้องเสียภาษีอีก ที่ผ่านมาสมาคม บลจ. ก็เคยคุยเรื่องนี้กับสภาตลาดทุน ซึ่งเราเห็นด้วยว่าตลาดนี้จะเติบโต เรื่องนี้น่าจะต้องหยิบยกขึ้นมาคุยระดับนโยบาย ซึ่งจะต้องทำงานกันต่อไป”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising