ดูเหมือนว่า ณ เวลานี้ ‘ตัวอย่างหนัง’ จะไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการโปรโมตเพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ชมตีตั๋วเข้าไปดูหนังในโรงเพียงอย่างเดียว แต่กลายเป็นว่าตัวอย่างหนังคืออีกหนึ่งสื่อบันเทิงที่ผู้ชมต่างตั้งตารอไม่แพ้ตัวหนังเต็ม
ยกตัวอย่างเช่นผลงานล่าสุดของ Marvel Studio อย่าง Spider-Man: No Way Home ที่พึ่งจะปล่อยตัวอย่างแรกออกมาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็สร้างเสียงฮือฮาให้กับแฟนๆ Marvel Cinematic Universe ทั่วโลกได้เป็นอย่างดี ทั้งประเด็นของการเปิดจักรวาลมัลติเวิร์สและการปรากฏตัวของตัวร้ายที่แฟนๆ ต่างเฝ้ารอ จนทำให้ตัวอย่างแรกของ Spider-Man: No Way Home มียอดผู้เข้าชมมากกว่า 355.5 ล้านครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง ทำลายสถิติเดิมของหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Avengers: Endgame ที่ปล่อยตัวอย่างแรกออกมาในปี 2019 และมียอดผู้เข้าชมสูงถึง 289 ล้านครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
แต่ก่อนที่คลิปวิดีโอความยาว 2-3 นาทีเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อผู้ชมและอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากมายขนาดนี้ ตัวอย่างหนังได้ถูกคิดค้นและพัฒนารูปแบบการนำเสนอมานานกว่าร้อยปีทีเดียว และวันนี้ THE STANDARD POP ขอพาเหล่าคอหนังไปร่วมย้อนชมการเดินทางของตัวอย่างหนังกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น
จากตัวอย่างละครบรอดเวย์ สู่จุดเริ่มต้นของคำว่า Trailer
หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของตัวอย่างหนัง เราคงต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 1910 ช่วงเวลาที่ธุรกิจโรงหนังแบบสแตนด์อโลนเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา โดยรูปแบบการฉายของโรงหนังในเวลานั้น คือการฉายหนังหรือการ์ตูนวนซ้ำไปซ้ำมาตลอดทั้งวัน โดยคิดค่าเข้าชมในราคา 5 เซ็นต์ ซึ่งผู้ชมสามารถตีตั๋วแล้วเข้าไปนั่งชมในโรงนานเท่าไรก็ได้
กระทั่งในปี 1913 นีลส์ กรานลันด์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงหนังในเครือ มาร์คัส โล (หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Metro-Goldwyn-Mayer) ณ ขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้ทำการโปรโมตละครบรอดเวย์เรื่อง The Pleasure Seekers โดยกรานลันด์ได้เลือกใช้การบันทึกภาพในระหว่างที่ทีมงานกำลังซ้อมการแสดงและนำมาตัดต่อเป็นตัวอย่างสั้นๆ เพื่อนำมาฉายคั่นกลางระหว่างหนังแต่ละเรื่อง
นีลส์ กรานลันด์ โชว์โปรดิวเซอร์และผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมวิทยุกระจายเสียง
อ้างอิง: imdb
แม้ว่าสิ่งที่กรานลันด์สร้างสรรค์ขึ้นจะเป็นการทำเพื่อโปรโมตละครบรอดเวย์ก็ตาม แต่นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของตัวอย่างหนัง เพราะไม่นานจากนั้น โรงหนังในเครือมาร์คัส โล รวมถึงโรงหนังอีกหลายแห่งก็ได้หยิบนำรูปแบบการโปรโมตของกรานลันด์มาปรับใช้เพื่อโปรโมตหนังอย่างแพร่หลาย
อีกหนึ่งบุคคลสำคัญต่อการสร้างตัวอย่างหนังในยุคแรกเริ่มคือ วิลเลียม เซลิก ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงเวลาเดียวกับที่กรานลันด์ได้ริเริ่มการทำตัวอย่างสำหรับโปรโมตละครบรอดเวย์ เซลิกได้มองเห็นถึงความนิยมของนิยายเรื่องยาวที่ถูกตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์ เซลิกจึงตัดสินใจนำนิยายเรื่องยาวจำนวน 13 ตอน เรื่อง The Adventures of Kathlyn ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune มาดัดแปลงเป็นหนัง ความยาว 13 ตอน และออกฉายสัปดาห์ละหนึ่งตอน ซึ่งนับว่าเป็นหนังเรื่องที่สองที่ถูกดัดแปลงมาจากนิยายเรื่องยาว
วิลเลียม เซลิก ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา
อ้างอิง: collections.new.oscars
The Adventures of Kathlyn (1913)
อ้างอิง: imdb
ส่วนประกอบสำคัญของ The Adventures of Kathlyn ที่ส่งผลมาถึงการสร้างตัวอย่างหนังในยุคต่อมา คือรูปแบบการโปรโมตหนังของเซลิก ที่มีการใส่ตัวอย่างสั้นๆ ลงไปในช่วงท้ายของหนังแต่ละตอน โดยจะเป็นฉากที่ตัวละครกำลังตกอยู่ในอันตราย เพื่อสร้างความตื่นเต้นและเชิญชวนให้ผู้ชมกลับมาดูตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า
รูปแบบการนำเสนอของเซลิกที่มีการใส่ฉากสำคัญลงไปในตัวอย่างหนังเพื่อสร้างความตื่นเต้นและเชิญชวนให้ผู้ชมเฝ้าติดตาม มีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างตัวอย่างหนังในยุคต่อมา นอกจากนี้ เนื่องจากการนำตัวอย่างหนังมาฉาย ‘ต่อท้าย’ หลังจากที่หนังฉายจบ จึงทำให้ผู้ชมต่างเริ่มเรียกชื่อตัวอย่างหนังว่า ‘Trailer’ ที่มีความหมายว่า ‘รถพ่วง’ หรือการพ่วงตัวอย่างหนังไว้ท้ายสุดนั่นเอง
การมาถึงของบริษัท The National Screen Service และการขบถต่อวงการของสองผู้กำกับ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก และ สแตนลีย์ คูบริก
หลังจากที่กรานลันด์ได้ริเริ่มการสร้างตัวอย่างหนังขึ้นมาในปี 1913 โรงหนังหลายแห่งจึงได้ริเริ่มทำตัวอย่างหนังของตัวเองขึ้นมาเพื่อโปรโมตหนังที่จะเข้าฉาย แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านต้นทุนจึงทำให้ตัวอย่างหนังส่วนใหญ่ค่อนข้างจะมีความเรียบง่าย
National Screen Service (NSS)
อ้างอิง: Original Film Art
กระทั่งในปี 1919 การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็มาถึง เมื่อบริษัท The National Screen Service (NSS) ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานด้านการประสัมพันธ์และจัดจำหน่ายสื่อภาพยนตร์โดยเฉพาะ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อวงการภาพยนตร์ ณ ขณะนั้น เนื่องจากสตูดิโอผู้ผลิตหลายแห่งต่างหันไปจ้าง NSS ในการผลิตตัวอย่างหนังและโปสเตอร์เพื่อนำไปโปรโมตในโรงหนังแทน จนทำให้ NSS กลายเป็นบริษัทที่ครองตลาดด้านการผลิตตัวอย่างหนังตั้งแต่ปี 1920 จนถึงปี 1960 แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ตัวอย่างหนังในช่วงเวลานั้น มักจะมีรูปแบบการนำเสนอที่คล้ายกันไปหมด ทั้งจังหวะการตัดต่อ การใส่เสียงบรรยาย การใส่ตัวหนังสือ ฯลฯ
อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก
อ้างอิง: wikipedia
สแตนลีย์ คูบริก
อ้างอิง: imdb
แต่ผู้ที่เข้ามาสร้างความแตกต่างและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอของตัวอย่างหนังให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก คือสองผู้กำกับระดับตำนานอย่าง อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก และ สแตนลีย์ คูบริก
ในปี 1960 อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ได้หยิบนำนิยายสยองขวัญชื่อดังอย่าง Psycho ของนักเขียนนาม โรเบิร์ต บล็อช มาดัดแปลงเป็นหนัง โดยฮิตช์ค็อกได้สร้างสรรค์ตัวอย่างหนังในรูปแบบที่แตกต่างไปจากตัวอย่างหนังเรื่องอื่นๆ ด้วยการถ่ายทำวิดีโอขึ้นมาเพื่อพาผู้ชมไปสำรวจโรงแรมสุดสยองซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของเรื่อง โดยมีฮิตช์ค็อกเป็นผู้พาชม
https://www.youtube.com/watch?v=DTJQfFQ40lI
ตัวอย่าง Psycho (1960) ผลงานระดับตำนานของผู้กำกับ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก
ด้าน สแตนลีย์ คูบริก นับว่าเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับระดับตำนานที่สร้างสรรค์รูปแบบการนำเสนอตัวอย่างหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งตัวอย่างหนังเรื่อง Lolita ในปี 1962 ซึ่งมีจังหวะการตัดต่อที่แปลกหูแปลกตาไปจากตัวอย่างหนังเรื่องอื่นๆ
รวมถึงผลงานเรื่องสำคัญอย่าง Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb ในปี 1964 ที่คูบริกได้ตัดสินใจจ้าง ปาโบล เฟอร์โร กราฟิกดีไซเนอร์ฝีมือดี มารับหน้าที่ตัดต่อตัวอย่างหนังเรื่องนี้ โดยเฟอร์โรได้คิดค้นเทคนิคการตัดต่อแบบ Quick-Cut ด้วยการตัดสลับระหว่างภาพเคลื่อนไหวและตัวหนังสืออย่างรวดเร็ว
https://www.youtube.com/watch?v=jPU1AYTxwg4
ตัวอย่าง Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb (1964)
นอกจากเทคนิคด้านภาพแล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสร้างสรรค์ตัวอย่างหนังในช่วงเวลานั้น คือการเลือกใช้ดนตรีประกอบที่โดดเด่นและเหมาะสม เช่น ตัวอย่างหนังเรื่อง The Graduate ในปี 1967 ของผู้กำกับ ไมค์ นิโคลส์ ที่ได้หยิบผลงานของสองศิลปินชื่อดังอย่าง ไซมอน และ การ์ฟังเกล มาใช้เป็นดนตรีประกอบ
https://www.youtube.com/watch?v=hsdvhJTqLak
ตัวอย่าง The Graduate (1967)
เมื่อฉลามบุกจอโทรทัศน์ สู่ยุคสมัยของหนังบ็อกซ์บัสเตอร์
เกือบครึ่งศตวรรษที่ตัวอย่างหนังได้มีการพัฒนารูปแบบการนำเสนอให้แตกต่างและน่าดึงดูดมากขึ้นเรื่อยๆ และตอนนี้เราก็เดินทางมาถึงอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของตัวอย่างหนังที่จะเปลี่ยนวงการภาพยนตร์โลกไปตลอดกาล
ในช่วงปี 1970 โรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์เริ่มแพร่หลายมากขึ้น บวกกับสตูดิโอผู้ผลิตต่างหันมาดูแลการโปรโมตหนังของตัวเองมากขึ้น จึงส่งผลให้บทบาทของบริษัท NSS ที่ครองตลาดด้านการผลิตตัวอย่างหนังมาอย่างยาวนานค่อยๆ ลดลงไปตามกาลเวลา
Jaws (1975)
อ้างอิง: imdb
กระทั่งในปี 1975 สตีเวน สปีลเบิร์ก ได้หยิบนำนิยายชื่อดังอย่าง Jaws ของนักเขียน ปีเตอร์ เบนช์ลีย์ มาปลุกปั้นให้ฉลามสุดโหดบนหน้าหนังสือได้ออกมาแหวกว่ายบนจอเงิน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ส่งให้ผลงานเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามคือรูปแบบการโปรโมตของ Universal Pictures
โดยในช่วงเวลาดังกล่าว รูปแบบการฉายหนังฟอร์มยักษ์ส่วนใหญ่ทางสตูดิโอมักจะนำหนังของตัวเองไปเข้าฉายที่โรงหนังในเมืองใหญ่ๆ ก่อน แล้วค่อยๆ กระจายไปเข้าฉายในโรงหนังขนาดเล็ก แต่สำหรับ Jaws กลับไม่ใช่แบบนั้น ทาง Universal Pictures ได้ตัดสินใจที่จะฉายหนังเรื่องนี้แบบพร้อมกัน 464 โรงทั่วประเทศ ในวันที่ 25 มิถุนายน 1975 ซึ่งทางสตูดิโอได้ทุ่มเงินไปกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำการโปรโมตหนังเรื่องนี้ โดยมีเงินจำนวน 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถูกนำไปใช้เพื่อนำตัวอย่างหนังเรื่อง Jaws ออกฉายทางจอโทรทัศน์ ซึ่งนับว่าเป็นการโปรโมตหนังทางโทรทัศน์ที่ใช้ทุนสูงมากๆ ณ เวลานั้น
ตัวอย่าง Jaws (1975)
และดูเหมือนว่าการตัดสินใจของ Universal Pictures จะถูกต้อง เมื่อ Jaws สามารถกวาดรายได้เปิดตัวในสัปดาห์แรกไปกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปกว่า 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นแท่นเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดในปี 1975
แม้ว่ารูปแบบการโปรโมตและการตัดสินใจฉายหนังพร้อมกันทั่วประเทศของ Universal Pictures จะส่งให้ Jaws ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามและกลายเป็นหนังที่เปิดประตูสู่ยุคสมัยของหนังบ็อกซ์บัสเตอร์
แต่องค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ นั่นคือพลังของตัวอย่างหนังที่มาพร้อมกับมุมกล้องสุดระทึก เสียงกรีดร้องของนักแสดงสุดสยอง รวมถึงดนตรีประกอบที่ประพันธ์โดย จอห์น วิลเลียมส์ ที่สามารถเขย่าขวัญให้ผู้ชมต้องออกจากบ้านไปพิสูจน์ความโหดเหี้ยมของฉลามตัวนี้ในโรงได้สำเร็จเกินความคาดหมาย
ตัวอย่างหนัง คลิปสั้นๆ ที่คอหนังทั่วโลกตั้งตารอไม่แพ้หนังเต็ม
เมื่อยุคสมัยของหนังบ็อกซ์บัสเตอร์ ตัวอย่างหนังฟอร์มยักษ์หลายๆ เรื่องจึงไม่ได้เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งสำหรับการโปรโมตหนังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันกลายเป็นคลิปวิดีโอขนาดสั้นที่ผู้คนต่างตั้งตารอชมไม่แพ้กัน
หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากๆ คือตัวอย่างหนังเรื่อง Star Wars: Episode I – The Phantom Menace ที่เข้าฉายในปี 1999 ซึ่งนับว่าเป็นการกลับมาสานต่อตำนานอีกครั้งในรอบ 16 ปี หลังจากที่ Star Wars: Episode VI – Return of the Jedi เข้าฉายในปี 1983
Star Wars: Episode I – The Phantom Menace (1999)
อ้างอิง: imdb
โดยในปี 1998 ทาง Lucasfilm ได้มีการวางแผนว่าจะปล่อยตัวอย่างแรกของ The Phantom Menace ในวันที่ 20 พฤศจิกายน จำนวน 75 โรง ทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยตัวอย่างของ The Phantom Menace จะฉายปะหน้าหนังที่กำลังเข้าฉายอยู่ในขณะนั้นจำนวน 3 เรื่อง คือ The Waterboy (นำแสดงโดย อดัม แซนด์เลอร์), Meet Joe Black (นำแสดงโดย แบรด พิตต์) และ The Siege (นำแสดงโดย บรูซ วิลลิส)
เมื่อแฟนๆ สตาร์วอร์ทราบข่าวการปล่อยตัวอย่างแรกของ The Phantom Menace ทุกคนก็พร้อมใจกันซื้อตั๋วหนังทั้ง 3 เรื่อง เพื่อเข้าไปชมตัวอย่างแรกของ The Phantom Menace กันอย่างล้นหลาม ก่อนที่ผู้ชมจะลุกออกจากโรงทันทีหลังจากที่ตัวอย่างฉายจบ โดยในช่วงเวลานั้น ทาง Variety ได้รายงานว่ามีผู้ชมกว่า 500 คน ในลอสแอนเจลิสได้ซื้อตั๋วหนังเรื่อง The Siege เพื่อเข้าไปชมตัวอย่าง The Phantom Menace และมีผู้ชมมากกว่าครึ่งที่เดินออกจากโรงทันทีโดยไม่ดู The Siege ต่อ
และไม่กี่เดือนต่อมา ทาง Lucasfilm ก็ได้ปล่อยตัวอย่างตัวที่สองของ The Phantom Menace ออกมาผ่านทางเว็บไซต์หลักของสตาร์วอร์ ซึ่งมีแฟนๆ เข้าไปดาวน์โหลดเพื่อชมตัวอย่างมากกว่า 3.5 ล้านคน ภายในเวลาเพียง 5 วัน ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ดาวน์โหลดตัวอย่างหนังที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงเวลานั้น
นอกจากนี้ ตัวอย่าง The Phantom Menace ยังเชื่อมโยงให้แฟนๆ สตาร์วอร์ได้มาพบปะกันบนเว็บไซต์ เพื่อสร้างทฤษฎีต่างๆ และคาดเดาเนื้อเรื่องที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน
ตัวอย่าง Star Wars: Episode I – The Phantom Menace (1999)
เมื่อผู้ชมต่างเฝ้ารอที่จะได้เห็นตัวอย่างหนังในดวงใจไม่แพ้การเข้าไปดูหนังเต็มๆ ในโรง ดังนั้น ‘ความคาดหวัง’ ของผู้ชมที่มีต่อตัวอย่างหนังจึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
เช่นเดียวกับ Sonic The Hedgehog หนังที่ดัดแปลงมาจากเกมสุดคลาสสิกในชื่อเดียวกัน ซึ่งมีฐานแฟนเกมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหญ่จำนวนมากที่ตั้งตารอชมตัวละครที่พวกเขาหลงรักได้ออกมาโลดแล่นบนจอเงิน จนกระทั่งค่าย Paramount Pictures ได้ปล่อยตัวอย่างแรกให้แฟนๆ ได้เห็นโฉมหน้าของตัวละครหลักอย่างโซนิคที่ดูแตกต่างไปจากตัวเกมต้นฉบับโดยสิ้นเชิง นั่นจึงทำให้แฟนเกมทั่วโลกต่างออกมาแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้ทีมสร้างแก้ไขดีไซน์ตัวละครโซนิคกันอย่างล้นหลาม
ตัวละครโซนิคจากตัวอย่างแรก
อ้างอิง: imdb
ไม่นานหลังจากนั้น ทางผู้กำกับอย่าง เจฟฟ์ ฟาวเลอร์ จึงตัดสินใจออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ เพื่อกล่าวกับแฟนๆ ว่า เขาและทีมงานได้ทราบถึงคำติชมของแฟนๆ พร้อมให้สัญญาว่าเขาและทีมงานจะแก้ไขดีไซต์ตัวละครโซนิคให้ดีขึ้น และทางค่าย Paramount Pictures ก็ประกาศเลื่อนกำหนดฉายของ Sonic The Hedgehog ออกไป เพื่อให้ทีมงานได้กลับไปแก้ไขงานกันใหม่
ซึ่งดูเหมือนว่าการตัดสินใจของผู้กำกับและสตูดิโอจะถูกต้อง เมื่อพวกเขาได้ปล่อยตัวอย่างที่สองพร้อมกับดีไซน์ใหม่ของตัวละครโซนิคที่มีความใกล้เคียงกับต้นฉบับมากขึ้น ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี และเมื่อหนังเข้าฉายก็สามารถกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปกว่า 319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนๆ อย่างล้นหลาม โดยผู้ชมบนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ได้ให้คะแนนรีวิวไว้สูงถึง 93%
ตัวอย่าง Sonic The Hedgehog (2020) ฉบับแก้ไข
เรายังไม่ได้นับรวมถึงตัวอย่างหนังจาก Marvel Cinematic Universe ที่ทุกคนต่างทราบกันดีถึงกลวิธีนำเสนอที่สุดจะสร้างสรรค์และมีลูกล่อลูกชนอันแพรวพราว แต่จากทั้งหมดที่กล่าวมาก็คงพอจะพิสูจน์ให้เราเห็นว่า ตัวอย่างหนังไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเพื่อโปรโมตหนังให้คนได้รู้จักเท่านั้น แต่ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้เติบโตและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงให้ผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลกได้มาพบหน้าและพูดคุยในสิ่งที่พวกเขาต่างหลงใหลอีกด้วย
อ้างอิง:
- https://screenrant.com/spiderman-no-way-home-trailer-viewership-record-broken/
- https://www.youtube.com/watch?v=oytYLm1OTcM
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pablo_Ferro
- https://priceonomics.com/why-are-movie-trailers-called-trailers/
- https://www.denofgeek.com/movies/star-wars-how-the-phantom-menace-teaser-trailer-became-a-cinematic-event/
- https://www.bbc.com/news/newsbeat-50391867
- https://www.boxofficemojo.com/release/rl4244997633/
- https://www.rottentomatoes.com/m/sonic_the_hedgehog_2020