ช่วงค่ำวันที่ 8 กันยายนตามเวลาไทย สำนักพระราชวังอังกฤษได้ออกแถลงการณ์ถึงพระอาการประชวรของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยระบุว่า คณะแพทย์มีความกังวลเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระองค์ และทรงอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งสร้างความตกใจและกังวลแก่ประชาชนในอังกฤษและทั่วทั้งโลก
ขณะที่บรรดาสมาชิกพระราชวงศ์ระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายา, เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี พระราชนัดดา รวมถึงพระราชวงศ์พระองค์อื่นๆ ต่างเสด็จอย่างเร่งด่วนไปยังปราสาทบัลมอรัล ที่ประทับของสมเด็จพระราชินีนาถ ทำให้เกิดความกังวลเป็นอย่างยิ่งถึงพระอาการประชวรที่แท้จริงของพระองค์ และมีหลายฝ่ายที่คาดการณ์ว่า “The end of her era is near.” หรือรัชสมัยของพระองค์กำลังจะสิ้นสุด
ในวันเดียวกัน พระราชวังบักกิงแฮมได้ออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต เมื่อช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น ณ พระตำหนักบัลมอรัล ประเทศสกอตแลนด์ ขณะทรงมีพระชนมพรรษา 96 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 70 ปี
-
ธรรมเนียมในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย
ในอดีตช่วงเวลาที่เปราะบางและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ คือช่วงที่กษัตริย์องค์เดิมสวรรคต และช่วงเวลาก่อนที่กษัตริย์องค์ใหม่จะขึ้นครองราชย์ อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของประเทศ รวมไปถึงส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความรู้สึกของประชาชนในประเทศด้วย ซึ่งช่วงเวลานั้นอาจเกิดการแทรกแซงหรือเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น ดังนั้น การประกาศถึงการสวรรคตของกษัตริย์จึงต้องมีการวางแผนและกำหนดขั้นตอนต่างๆ ไว้อย่างรัดกุม
ด้วยเหตุดังกล่าว การวางแผนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษ ซึ่งสถาบันกษัตริย์มีความเป็นมายาวนานกว่าหนึ่งพันปี และได้ผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ อย่างมากมาย
โดยการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยของกษัตริย์อังกฤษนั้นมีแผนหรือขั้นตอนที่ชัดเจน ซึ่งทั้งสำนักพระราชวัง รัฐบาล สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันวางแผนเกี่ยวกับการประกาศข่าวการสวรรคตและการจัดพระราชพิธีพระบรมศพ โดยได้รับความเห็นชอบของกษัตริย์หรือพระราชินีพระองค์นั้น
ครั้งล่าสุดที่มีการเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์อังกฤษคือเมื่อปี 1952 หรือกว่า 70 ปีก่อน ที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคต โดยมีการขานรหัสลับ Hyde Park Corner ก่อนที่จะอัญเชิญเจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา ผู้ที่สนใจสามารถรับชมได้จากซีรีส์ The Crown ซีซัน 1 ตอนที่ 2 Hyde Park Corner อันเป็นการจำลองเหตุการณ์และขั้นตอนต่างๆ ที่เกิดขึ้น
-
“London Bridge is Down”
สำหรับแผนการในกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตนั้น มีชื่อเรียกว่า ‘Operation London Bridge’ หรือแผนการสะพานลอนดอน ซึ่งเปรียบเทียบพระองค์เป็นดังสะพานสำคัญในกรุงลอนดอน (ในกรณีของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีนั้น เรียกว่า Operation Forth Bridge ซึ่งเป็นสะพานสำคัญในเมืองเอดินบะระ ตามพระอิสริยยศของพระองค์)
ตามแผนดังกล่าว หากสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จสวรรคตแล้ว สำนักพระราชวังจะแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีอังกฤษด้วยรหัสลับว่า “London Bridge is Down” ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะรู้โดยทันทีว่าสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จสวรรคตแล้ว จากนั้นจึงจะมีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการแจ้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่พระองค์ทรงเป็นประมุข และประเทศในเครือจักรภพ ก่อนที่จะออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชนในที่สุด
ในขณะเดียวกันกับที่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการต่างๆ บรรดารายการโทรทัศน์จะหยุดออกอากาศรายการปกติ บรรดาเว็บไซต์และช่องทางการสื่อสารของราชสำนัก รัฐบาล และองค์กรต่างๆ จะเปลี่ยนพื้นหลังเป็นสีดำ รวมถึงจะมีการลดธงชาติลงครึ่งเสา และเสียงระฆังจากโบสถ์วิหารต่างๆ จะดังขึ้นพร้อมกัน เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่สมเด็จพระราชินีนาถผู้ล่วงลับ
-
‘Operation Unicorn’
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคตที่ปราสาทบัลมอรัลในสกอตแลนด์ การดำเนินการต่างๆ จะเป็นไปตามแผนการที่เรียกว่า ‘Operation Unicorn’ ซึ่งตั้งชื่อตามยูนิคอร์น อันเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติของสกอตแลนด์
แผนการดังกล่าวมีการเผยแพร่ในปี 2019 เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีที่พระองค์สวรรคตที่สกอตแลนด์ เนื่องจากตามประเพณีปฏิบัติ สมเด็จพระราชินีนาถจะเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่ปราสาทแห่งนี้ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี ดังนั้น จึงได้มีการเตรียมแผนการนี้ไว้ด้วย โดยเป็นการกำหนดเกี่ยวกับการจัดการพระบรมศพในช่วงแรก และการเคลื่อนย้ายมายังลอนดอน
-
The Queen (King) is Dead, Long Live the King
เมื่อมีแถลงการณ์ถึงการสวรรคตแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการสืบราชสันตติวงศ์ตามหลัก The Queen (King) is Dead, Long Live the King. “พระราชินีนาถเสด็จสวรรคตแล้ว ขอกษัตริย์องค์ใหม่ทรงพระเจริญ” โดยการสืบราชสันตติวงศ์อังกฤษในครั้งนี้จะเป็นไปตามแผนการที่ได้กำหนดไว้แล้วเช่นกัน ที่เรียกว่า ‘Operation Spring Tide’ ซึ่งหากแปลเทียบเคียงกับปรากฏการณ์น้ำขึ้นตามธรรมชาติ อาจสะท้อนถึงการขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษของเจ้าชายชาร์ลส์ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชินีนาถ
ตามแผนดังกล่าว เจ้าชายชาร์ลส์ในวัย 73 พรรษา รัชทายาทอันดับหนึ่งของราชบัลลังก์อังกฤษ ซึ่งทรงครองตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) อันเป็นตำแหน่งมกุฎราชกุมารมาตั้งแต่ปี 1969 รวมเวลานานกว่า 53 ปี ซึ่งถือเป็นรัชทายาทที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก จะทรงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไปของราชบัลลังก์อังกฤษ
ในวันถัดมาหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเสด็จสวรรคต สภาแห่งการสืบราชสมบัติ (The Accession Council) ซึ่งเป็นองค์กรตามธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณที่ประกอบด้วยคณะองคมนตรี ข้าราชสำนักอาวุโส สมาชิกสภาขุนนาง คณะผู้บริหารนครลอนดอน และผู้มีตำแหน่งสำคัญ จะได้มาพร้อมกันที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในกรุงลอนดอน เพื่อทำพิธีประกาศการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายชาร์ลส์ และพร้อมกันนั้น พระองค์จะต้องทรงกล่าวคำปฏิญาณในการขึ้นครองราชสมบัติ (The Accession Declaration) ซึ่งจะมีผลเป็นการสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ (To Proclaim King Charles the New Sovereign.)
หลังจากนั้น กษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามแผนที่กำหนด ซึ่งรวมถึงการให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ และต้องเสด็จพระราชดำเนินไปยังดินแดนต่างๆ ในสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นเมืองเอดินบะระของสกอตแลนด์ เมืองเบลฟาสต์ของไอร์แลนด์เหนือ และเมืองคาร์ดิฟฟ์ของเวลส์ เพื่อประกอบพิธีต่างๆ ในฐานะประมุขพระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักรให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกษัตริย์กับดินแดนต่างๆ ด้วย
ตามแผนการดังกล่าว เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถสวรรคตครบ 10 วัน จะมีการจัดพระราชพิธีพระบรมศพ ณ วิหารเวสต์มินสเตอร์ ก่อนที่จะเคลื่อนพระบรมศพไปฝังยังปราสาทวินด์เซอร์ ที่ซึ่งพระราชสวามี ตลอดจนพระราชบุพการีได้รอคอยพระองค์อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว
-
สายลมแห่งความเปลี่ยนผ่านของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ
ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ผู้ที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษจะสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง จากปัญหาพระพลานามัยที่ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงต้องงดการปฏิบัติพระราชภารกิจหลายประการ โดยจะทรงมอบหมายให้เจ้าชายชาร์ลส์และพระราชวงศ์เป็นผู้แทนพระองค์ รวมไปถึงการที่ทรงมีพระราชดำรัสต่อสาธารณชน เพื่อยืนยันถึงสถานะของเจ้าชายชาร์ลส์ในการสืบทอดราชบัลลังก์ และการขึ้นเป็นพระราชินีอังกฤษของ คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นอกจากนั้นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจากไปของเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีที่อยู่เคียงข้างและเป็นกำลังสำคัญให้แก่พระองค์มายาวนานกว่า 74 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา ย่อมส่งผลกระทบสำคัญต่อพระองค์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการดำเนินการหรือกำหนดแผนต่างๆ ขึ้นอย่างรัดกุมเพื่อการเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์ที่ราบรื่นมากเพียงใด แต่ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยและการยอมรับของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ ตลอดจนกระแสเรียกร้องสาธารณรัฐในประเทศอังกฤษเอง จะเป็นสิ่งที่ท้าทายเจ้าชายชาร์ลส์ ผู้ที่กำลังจะขึ้นมาเป็นผู้นำสถาบันกษัตริย์อังกฤษในระยะเวลาอันใกล้นี้
ภาพ: Tim Graham Photo Library via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.royal.uk/accession
- https://euroweeklynews.com/2022/09/08/what-is-operation-spring-tide-the-plan-for-the-prince-of-wales-accession-to-the-throne/
- https://privycouncil.independent.gov.uk/privy-council/the-accession-council/
- https://www.politico.eu/article/queen-elizabeth-death-plan-britain-operation-london-bridge/
- https://www.heraldscotland.com/news/17754369.operation-unicorn-secret-strategy-queen-dying-scotland/
- https://www.readersdigest.com.au/true-stories-lifestyle/drama/16-things-will-happen-once-queen-elizabeth-ii-dies