หากคู่รักคู่ไหนคิดจะหมั้นหรือแต่งงาน ในยุคนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเพชรมีบทบาทสำคัญในการเป็นสัญลักษณ์ของความรักนิรันดร์ แต่จะมีกี่คนที่จะรู้ถึงที่มาของอัญมณีที่เราสวมใส่หรือใช้ในวันสำคัญของชีวิตว่า ในกระบวนการที่จะได้เพชรเม็ดหนึ่งมานั้นมีใครถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกบังคับใช้แรงงาน หรือต้องสละชีวิตมาบ้าง
จากแคมเปญโฆษณาที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามของ De Beers ตั้งแต่ช่วงยุค 30s เรื่อยมา ทำให้เพชรกลายเป็นสัญลักษณ์ของการขอแต่งงานมาถึงปัจจุบัน และสร้างค่านิยมในโลกตะวันตก ค่านิยมที่ว่าฝ่ายชายควรจะซื้อแหวนหมั้นเพชรที่มีมูลค่าสูงกว่าเงินเดือน 2-3 เดือนให้คนรัก มูลค่าอันสูงลิ่วของเพชรและความเป็นที่ต้องการที่มากขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งการเป็นทรัพยากรที่ลดลงเรื่อยๆ ทำให้เพชรมีราคาสูงขึ้นๆ
ในความแพงของเพชรก็มีต้นทุนแฝงที่มักถูกตั้งคำถามถึงที่มาของเพชรว่ามีความโปร่งใสและได้มาอย่างมีจริยธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะในขั้นตอนการขุดเจาะจากเหมือง การใช้แรงงาน และรายได้ที่เกิดจากประเทศที่จำหน่ายเพชรดิบ (ยังไม่เจียระไน) ที่นำเงินไปอุดหนุนสงครามการเมือง เช่น ในประเทศเซียร์ราลีโอน ไลบีเรียและแองโกลา ที่ทำให้คนตายจำนวนมาก
หลังจากภาพยนตร์ชื่อดัง Blood Diamond ที่นำแสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เข้าฉายในปี 2006 และตีแผ่อุตสาหกรรมเพชรที่คร่าชีวิตคนในแอฟริกาไปจำนวนมาก หนังเรื่องนี้ได้จุดประเด็นเพชรเปื้อนเลือดให้โลกสนใจมากขึ้น
ผู้ประกอบการรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาก็มีคำถามนี้อยู่ในใจเช่นกัน
ในปี 2005 เบธ เกอร์สไตน์ กำลังจะหมั้นกับแฟนหนุ่ม พวกเขาต้องการหาแหวนเพชรที่ปราศจากความขัดแย้ง (conflict-free) หรือแหวนเพชรที่พวกเขาจะมั่นใจว่าได้มาอย่างมีจริยธรรมและไม่ได้มาจากการเอารัดเอาเปรียบใคร แต่กลับไม่สามารถหาเพชรที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้อย่างมั่นใจ เบธจึงปรึกษาเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ Stanford University คืออีริก กรอสเบิร์ก ที่เคยทำวิจัยเรื่องนี้ในช่วงที่เรียนอยู่ อีริกพบว่าอัญมณีมีการจัดหามาอย่างมีความรับผิดชอบจะเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมของประเทศที่กำลังพัฒนาได้ ด้วยความสนใจที่มีร่วมกัน ทั้งคู่จึงตั้งร้าน Brilliant Earth ขึ้นที่ซานฟรานซิสโก
ถึงแม้ว่าตลาดจำหน่ายเพชรของโลกมี Kimberley Process ที่เป็นกรอบข้อตกลงระหว่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 2003 เพื่อป้องกันการซื้อขายเพชรที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือเพชรเปื้อนเลือด โดยเพชรที่จะซื้อขายกันได้ระหว่างประเทศสมาชิกต้องผ่านกรอบข้อตกลงที่ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าต้องแสดงหนังสือรับรองถึงที่มาด้านการผลิต นำเข้า ส่งออกของเพชรดิบอย่างมีความโปร่งใส ซึ่งประเทศที่จะค้าขายในกระบวนการนี้ได้จะต้องเข้าเป็นสมาชิกของ Kimberley Process และห้ามซื้อขายเพชรกับประเทศที่อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตร (ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของ Kimberley Process)
ในปัจจุบัน เพชรประมาณ 99.8% ในตลาดโลกผ่านการรับรองนี้ แต่ Brilliant Earth ก็มีเป้าหมายในการตั้งมาตรฐานที่สูงกว่าตลาด
Brilliant Earth มีเป้าในการจำหน่ายอัญมณีที่มีที่มาอย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ที่สูงไปกว่ามาตรฐาน Kimberley Process คือเพชรที่ได้มาไม่เพียงผ่านการตรวจสอบเรื่องการนำเงินไปสนับสนุนสงครามกลางเมืองเท่านั้น แต่ต้องตรวจสอบไปถึงการเอาเปรียบเรื่องสิทธิมนุษยชน มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ใช้แรงงานอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ รวมถึงรายได้จากเพชรจะต้องมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชน
เพชรของ Brilliant Earth จึงมาจากเหมืองเพียงไม่กี่แห่งในแคนาดา รัสเซีย และบอตสวานา ที่ผ่านมาตรฐานในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเพชรเหล่านี้ต้องมีเอกสารรับรอง ผ่านการตรวจสอบจากองค์กรภายนอก และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
ตัวเรือนเครื่องประดับของ Brilliant Earth ทำจากทองคำหรือทองคำขาวที่มาจากการรีไซเคิลเครื่องประดับเดิม โลหะที่เป็นส่วนประกอบของกระบวนการอุตสาหกรรม หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลูกค้าที่ชื่นชอบเพชร แต่ไม่อยากได้เพชรธรรมชาติ ก็สั่งซื้อเพชรสังเคราะห์จากแล็บแทนได้ ทั้งนี้กำไรสุทธิ 5% ของร้านจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตเพชรในหลายประเทศ
แนวคิดของ Brilliant Earth เป็นจุดขายที่ถูกใจลูกค้าที่ต้องการความมั่นใจในสัญลักษณ์แห่งความรักของพวกเขา และเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการแสดงค่านิยมของคนยุคมิลเลนเนียลที่ใส่ใจในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนยุคก่อน จนทำให้ร้านนี้กลายเป็นร้านเพชรออนไลน์แบบปราศจากความขัดแย้งที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ Brilliant Earth ก็ถูกโจมตีในโลกออนไลน์จนกลายเป็นกรณีฟ้องร้อง เมื่อยูทูเบอร์รายหนึ่งปล่อยคลิปตีแผ่การเสาะหาที่มาของเพชรที่ซื้อมาจาก Brilliant Earth ว่าไม่ได้มีที่มาจากแคนาดาอย่างที่กล่าวอ้าง และเอกสารรับรองต่างๆ ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้คนในวงการออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่า ในความเป็นจริงแล้วเราอาจไม่สามารถยืนยันที่มาที่ไปของเพชรได้ 100% เพราะความสลับซับซ้อนในห่วงโซ่อุปทานจากเพชรดิบไปยังเพชรเจียระไน และเพชรที่ใช้ประกอบกับตัวเรือนที่มีรายละเอียดมากมาย
แม้กระทั่งการรับรองแบบ Kimberley Process ซึ่งเป็นมาตรฐานโลกก็ถูกโจมตีมาโดยตลอดว่าไม่สามารถสร้างความมั่นใจถึงเรื่องความโปร่งใสของเพชรได้ เพราะผู้ที่ออกเอกสารรับรองในประเทศต้นทางที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาคือองค์กรของรัฐที่มีการคอร์รัปชันสูง รวมทั้งความหมายที่แคบเกินไปของเพชร Kimberley Process ที่เน้นเพชรที่ปราศจากความขัดแย้งที่ไม่ครอบคลุมเรื่องสิทธิมนุษยชนและปัญหาแรงงานที่มีการเอาเปรียบ การใช้กำลังบังคับหรือกระทั่งการละเมิดและข่มขืน เอ็นจีโอบางแห่งที่เคยผลักดันการรับรองนี้ก็ลาออกจากการเป็นสมาชิก เพราะไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของกระบวนการ
ถึงจะมีข้อวิพากษ์ในกระบวนการทำงานของทั้งร้าน Brilliant Earth และมาตรฐานการรับรองที่ใช้ทั่วโลกอย่าง Kimberley Process ผู้บริโภคอย่างเราก็ไม่ควรเลิกตั้งคำถามถึงที่มาของอัญมณีที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของความรักและเป็นมงคลแก่ชีวิตคู่ที่กำลังเริ่มต้นว่าได้มาจากการสร้างความลำบากให้ชีวิตใคร หรือเอาเปรียบใครมา
ผู้จำหน่ายเพชรแต่ละรายอาจจะตอบเราไม่ได้ทั้งหมดในรายละเอียดของห่วงโซ่อุปทาน แต่หากที่มาของเพชรเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น ผู้ขายก็ย่อมจะใส่ใจและเคลื่อนไหวตามเสียงเรียกร้องของเรา
อ้างอิง:
- www.forbes.com/sites/nikkibaird/2017/10/11/luxurys-millennial-problem-and-how-one-retailer-is-solving-it/#67969e1e6dc8
- www.bbc.com/news/magazine-27371208
- www.brilliantearth.com/about-brilliant-earth
- www.dft.go.th/th-th/ShareDocument1/ArticleId/3773/-Rough-Diamonds
- time.com/blood-diamonds
- thenextweb.com/insider/2017/06/17/shady-online-diamond-dealer-proves-conflict-free-is-no-guarantee