×

BRICS ชูใช้เงินหยวนซื้อ-ขายระหว่างประเทศ หวังกระชับมิตรทางการค้าและลดอิทธิพลเงินดอลลาร์

21.06.2022
  • LOADING...
เงินหยวน

สมาชิกกลุ่ม BRICS เดินหน้าผลักดันเงินหยวนขึ้นแท่นสกุลเงินหลักในการทำธุรกรรมการค้าข้ามพรมแดน หวังกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่ม และเพื่อลดอิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 

 

เว็บไซต์ Global Times ของทางการจีน รายงานว่า บรรดาผู้ค้าทั้งหลายในกลุ่มประเทศ BRICS คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ต่างมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นในกลุ่มประเทศของตนเอง โดยเฉพาะเงินหยวน เป็นอีกหนึ่งสกุลหลักในการเจรจาทำธุรกรรมทางการค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการมองว่าทางเลือกอื่นนอกจากสกุลเงินดอลลาร์ ที่จะนำมาใช้เป็นตัวกลางชำระหนี้ระหว่างประเทศในกลุ่ม BRICS

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขณะที่อิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงครอบงำเวทีการค้าโลก ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิก BRICS บวกกับความร่วมมือเพิ่มเติมด้านต่างๆ ในอนาคตได้เพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่จะชำระหนี้ด้วยเงินสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศ 

 

รายงานระบุว่า ประเด็นการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นถือเป็นหนึ่งในประเด็นหารือหลักในการประชุม BRICS Summit โดยความเป็นได้มากที่สุดขณะนี้ก็คือเงินหยวนกับเงินรูเบิล หลังมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนกับรัสเซียเพิ่มสูงขึ้น 

 

หวาง ซึ่งเป็นผู้จัดการของสหภาพนักอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรัสเซีย-เอเชีย (Russian Asian Union of Industrialists and Entrepreneurs) แห่งรัสเซีย กล่าวว่า มีผลิตภัณฑ์รัสเซียจำนวนมากที่เดิมทีมีไว้สำหรับตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ขณะนี้กำลังเบนเข็มส่งออกไปยังจีนและอินเดียแทน อันเป็นผลพวงจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในวงกว้างที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านรัสเซีย โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักๆ ของรัสเซียคือน้ำมันและปุ๋ย

 

หวางกล่าวว่า สมาชิกส่วนใหญ่ใช้เงินหยวนในการชำระบัญชีการค้าข้ามพรมแดนแทนดอลลาร์สหรัฐหรือสกุลเงินอื่นๆ เนื่องจากการชำระเงินหยวนทำได้เร็วกว่าและใช้ได้จริงมากกว่า จากแนวโน้มที่ว่านี้ทำให้มีบริษัทรัสเซียจำนวนมากขึ้นกำลังมองหาการเปิดบัญชีที่สาขาของธนาคารจีนในกรุงมอสโก 

 

Purefine Wood Trade Agency กลุ่มการค้าเมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นผู้ค้าไม้กับรัสเซีย เปิดเผยว่า เห็นนักธุรกิจชาวรัสเซียกำลังพยายามสำรวจตลาดจีนหรือตลาดต่างประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย เพื่อเข้ามาชดเชยตลาดส่งออกหลักของรัสเซียอย่างยุโรป

 

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่นานก่อนการประชุมสุดยอด BRICS เสมือนจริง ครั้งที่ 14 ที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ระหว่างวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอิทธิพลสกุลเงินดอลลาร์ ท่ามกลางการเดินหน้าสนับสนุนความหลากหลายทางการค้าในกลุ่ม BRICS 

 

หลี่จื่อกัว นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันระหว่างประเทศศึกษาของจีน (China Institute of International Studies) กล่าวว่า เพื่อให้การค้าในกลุ่ม BRICS ราบรื่น ก็จำเป็นที่กลุ่ม BRICS จะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหมายรวมถึงความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านการชำระเงินด้วยเงินสกุลเงินท้องถิ่นนั้นๆ 

 

ทั้งนี้ ในปี 2021 การค้าระหว่างจีนกับรัสเซียโดยใช้การชำระบัญชีด้วยสกุลเงินท้องถิ่นคิดเป็น 24% ของการชำระบัญชีการค้าทวิภาคีทั้งหมด ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ก็ทำให้รัสเซียเพิ่มสัดส่วนเงินหยวนในฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของตนเองให้มากขึ้น  

 

หลี่กล่าวว่า ความคืบหน้าข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการเดินหน้าผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในกลุ่ม BRICS มาซื้อ-ขายระหว่างกันมีความก้าวหน้ามากขึ้น 

 

วันเดียวกันมีรายงานว่า รัสเซียกลายเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่รัสเซียยอมขายน้ำมันดิบลดราคาให้รัฐบาลกรุงปักกิ่ง หลังรัสเซียต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจากสงครามยูเครน

 

ทั้งนี้ การนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของจีนเพิ่มขึ้น 55% จากปีก่อนหน้า สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤษภาคม เบียดซาอุดีอาระเบียที่เคยเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดของจีนตกไปอยู่ในอันดับที่ 2 

 

จีนได้เพิ่มการซื้อน้ำมันรัสเซีย แม้ว่าความต้องการจะลดลงจากการควบคุมโควิดและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยบริษัทรัฐวิสาหกิจจีนอย่าง Sinopec โรงกลั่นยักษ์ใหญ่ และบริษัท Zhenhua Oil ได้เพิ่มการซื้อน้ำมันดิบของรัสเซียในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังได้รับการเสนอส่วนลดจำนวนมาก เนื่องจากผู้ซื้อในยุโรปและสหรัฐฯ เมินน้ำมันของรัสเซีย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการคว่ำบาตรจากการทำสงครามกับยูเครน

 

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนพบว่า ปริมาณนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีมูลค่ารวมเกือบ 8.42 ล้านตัน ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเดิมคือแหล่งน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของจีน กลายเป็นอันดับ 2 ด้วยปริมาณ 7.82 ล้านตัน

 

ด้าน Ctrip เอเจนซีท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ของจีน คาดการณ์ว่า ความต้องการเดินทางภายในประเทศของจีนจะเพิ่มขึ้นในช่วงซัมเมอร์นี้ โดยการเดินทางจะฟื้นตัวมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 เนื่องจากสถานการณ์การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิดเริ่มคลี่คลายไปในทางบวก 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานแสดงให้เห็นว่า ในช่วงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายนจำนวนตั๋วเครื่องบินและทางเข้าจุดชมวิวในประเทศเพิ่มขึ้น 31 และ 44% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า แม้สถานการณ์ภายนอกของตลาดการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนที่จะมาถึงนี้จะซับซ้อนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ความต้องการเดินทางคาดว่าจะฟื้นตัวได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ 

 

รายงานพบว่า เมื่อใกล้ปิดเทอมฤดูร้อน นักเรียนจะมีเวลาว่างมากขึ้น และความต้องการเดินทางกับครอบครัวก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนการค้นหาการเดินทางออนไลน์เกี่ยวกับทัวร์ครอบครัวและทริปสำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้นกว่า 100 และเกือบ 300% ตามลำดับ

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising