×

BRICS เดินหน้าขยายอิทธิพล อ้าแขนต้อนรับ 6 ประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก มีผล 1 ม.ค. 2024

25.08.2023
  • LOADING...

ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) เมื่อวันพฤหัสบดี (24 สิงหาคม) ที่ผ่านมา ในฐานะประธาน BRICS คนปัจจุบันว่า ชาติสมาชิกของกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เตรียมเชิญ 6 ประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดย 6 ประเทศดังกล่าวคือ อาร์เจนตินา อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน ซึ่งสถานะความเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2024

 

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของวาระการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 15 คือการเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการค้า การลงทุน ตลอดจนการพัฒนาในด้านอื่นๆ ร่วมกัน 

 

รายงานระบุว่า ผู้นำกลุ่ม BRICS ตบเท้าเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ยกเว้นประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานด้วยตนเองได้ เนื่องจากอาจมีหมายศาลอาญาระหว่างประเทศที่จะมีผลบังคับให้ประเทศเจ้าภาพอย่างแอฟริกาใต้ ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ต้องดำเนินการจับกุมปูติน 

 

รามาโฟซา ประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ กล่าวว่า BRICS ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายที่มารวมตัวกันเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งแม้ประเทศต่างๆ จะมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ก็มีวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อโลกที่ดีกว่า ในฐานะหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่ม BRICS ทางกลุ่มได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับหลักการชี้แนะ มาตรฐาน หลักเกณฑ์ และขั้นตอนของกระบวนการขยายอิทธิพลของ BRICS ซึ่งหมายรวมถึงการเพิ่มจำนวนสมาชิก 

 

การเข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS ของ 6 ประเทศใหม่ จะทำให้กลุ่ม BRICS มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 23 ประเทศ อีกทั้งกลุ่ม BRICS ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเติบโตเรื่อยๆ เนื่องจากมีการทาบทามส่งเทียบเชิญให้กับประเทศอื่นๆ เข้าร่วม โดยมีหลายประเทศ เช่น ไนจีเรียและกานา ต่างแสดงความสนใจอย่างไม่เป็นทางการ

 

ด้านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า การขยายจำนวนสมาชิกดังกล่าวเป็น “จุดเริ่มต้นใหม่สำหรับความร่วมมือของ BRICS” และกล่าวว่าความร่วมมือดังกล่าวจะนำพลังใหม่ๆ มาสู่กลไกความร่วมมือของ BRICS และเสริมสร้างพลังเพื่อสันติภาพและการพัฒนาของโลก

 

ขณะที่ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียได้ส่งสารแสดงความขอบคุณแอฟริกาใต้ ประเทศเจ้าภาพ โดยเฉพาะประธานาธิบดีรามาโฟซาที่ใช้ความเชี่ยวชาญทางการทูตในการเจรจาในทุกประเด็น ซึ่งมีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนสมาชิกขยายกลุ่ม BRICS

 

ส่วนประธานาธิบดีรามาโฟซายังได้บอกใบ้ถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มเติมจำนวนสมาชิก BRICS ในอนาคต พร้อมย้ำว่า BRICS ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศอื่นๆ ดังนั้น ในการสร้างความร่วมมือกับ BRICS ทางกลุ่มได้มอบหมายให้รัฐมนตรีต่างประเทศพัฒนารูปแบบประเทศของกลุ่มและรายชื่อประเทศคู่ค้าในอนาคต ซึ่งจะรายงานในการประชุมสุดยอดครั้งถัดไป

 

ในส่วนของประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล กล่าวว่า BRICS ในขณะนี้สะท้อนให้เห็นได้จากความสนใจที่เพิ่มขึ้นของประเทศอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมกลุ่ม โดยขณะนี้ BRICS มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 37% ของ GDP โลกในแง่ของกำลังซื้อ และ 46% ในแง่ของประชากรโลก โดยเขาได้ย้ำว่า BRICS จะยังคงเปิดรับสมาชิกใหม่ต่อไป

 

รายงานระบุว่า แม้ประเทศสมาชิก BRICS ต่างแสดงการสนับสนุนต่อการเปิดรับสมาชิกใหม่อย่างเปิดเผย แต่บรรดาผู้นำก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับจำนวนและความรวดเร็วในการเพิ่มสมาชิก

 

ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย กล่าวว่า “การขยายตัวและความทันสมัยของ BRICS คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มที่ต้องการสื่อถึงทุกสถาบันในโลกเกี่ยวกับความสำคัญที่ต้องหล่อหลอมตนเองตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป”

 

Gustavo de Carvalho นักวิเคราะห์นโยบายและนักวิจัยอาวุโสของสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งแอฟริกาใต้ แสดงความเห็นผ่าน X ว่า สมาชิกใหม่จะไม่ใช่แค่ช่วยให้ BRICS เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังให้โอกาสสำหรับสมาชิกในด้านต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือการแลกเปลี่ยนซื้อขายและลงทุนระหว่างกันโดยตรงด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่ง BRICS ยังคงศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง 

 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า บรรดาสมาชิกใหม่ของ BRICS ต่างมีความท้าทายในรูปแบบต่างๆ ติดมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นอิหร่านที่กำลังเผชิญกับการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ ขณะที่การปะทะครั้งใหม่ในเอธิโอเปียทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพภายใน ส่วนอียิปต์กำลังเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ และเมื่อเร็วๆ นี้ อาร์เจนตินาได้ลดค่าเงินของประเทศของตนลงอย่างมาก ขณะที่อาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบียต่างพยายามเติบโตในภาคส่วนที่ไม่ใช่น้ำมัน แม้ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากชาติตะวันตกเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องก็ตาม 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X