บริกส์ (BRICS) กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งประกอบไปด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ได้ออกมาเปิดเผยว่าทางกลุ่มกำลังร่วมกันพิจารณาเพื่อตัดสินใจเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่เข้ากลุ่ม โดยการหารือครอบคลุมถึงเกณฑ์ในการพิจารณา หลังจากที่หลายประเทศ รวมถึงอิหร่านและซาอุดีอาระเบียแสดงความสนใจและเอ่ยปากขอเข้าร่วมกลุ่มบริกส์อย่างเป็นทางการ
Bloomberg รายงานว่า การขยายจำนวนชาติสมาชิกของกลุ่มบริกส์จากเดิมที่มีอยู่ 5 ประเทศ น่าจะส่งผลดีต่อประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และกำลังพยายามสร้างสายสัมพันธ์ทางการทูตกับกลุ่มประเทศอื่นๆ เพื่อเผชิญหน้ากับอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่ครอบงำองค์กรสำคัญระดับโลกอย่างสหประชาชาติ (UN) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และสถาบันอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รมว.ท่องเที่ยว ซาอุดีอาระเบีย หวังจีนเลิกคุมเข้มโควิด และเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง
- ‘ซาอุดีอาระเบีย’ ประกาศลดราคาน้ำมันให้ผู้ซื้อในเอเชีย ท่ามกลางวิกฤตโควิดจีน แต่ยังคงราคาขายให้สหรัฐฯ
- จับตาจีนพบซาอุดีอาระเบีย เชื่อยกระดับสัมพันธ์ด้านการค้าและพลังงาน
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า จีนได้เสนอให้มีการขยายจำนวนสมาชิกของบริกส์เมื่อช่วงปีที่แล้วในวาระที่จีนดำรงตำแหน่งประธานของกลุ่ม ซึ่งได้สร้างความกังวลในหมู่สมาชิกรายอื่นๆ ว่าอิทธิพลของตนอาจจะลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพันธมิตรใกล้ชิดของจีนได้รับการยอมรับ
จีนถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มบริกส์ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนมีขนาดใหญ่กว่า GDP ของสมาชิกกลุ่มบริกส์ขณะนี้ทั้งหมดรวมกันถึง 2 เท่า
Anil Suklal เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ ในฐานะตัวแทนของกลุ่มบริกส์ และรับตำแหน่งประธานกลุ่มในปี 2023 กล่าวว่า ข้อเสนอเพื่อขยายจำนวนสมาชิกของกลุ่มบริกส์ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่จะมีการพูดคุยกันภายในกลุ่มในปีนี้ โดยจนถึงขณะนี้มีมากกว่า 10 ประเทศแล้วที่แสดงความสนใจเข้าร่วมกับกลุ่มบริกส์
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังมีขึ้นในช่วงเวลาที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย นำโดยชาติตะวันตกอย่างสหรัฐฯ กับยุโรป ที่พยายามจะจับมือและสนับสนุนพันธมิตรของตนเพื่อต่อต้านกับอิทธิพลของจีน โดยที่ผ่านมามีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่และร่วมลงนามข้อตกลงทางการค้าและความปลอดภัยที่เรียกว่า Quad ซึ่งเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ในปี 2017 ขณะที่ในปี 2021 ทางการของออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่เรียกว่า AUKUS
เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ระบุต่อว่า โลกขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดระเบียบใหม่ โดยยังไม่ชัดเจนว่าระเบียบใหม่ที่ว่านี้คืออะไร และบริกส์เชื่อว่าทางกลุ่มต้องก้าวเข้าไปมีบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบโลกใหม่ให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และโปร่งใสมากขึ้น
ปัจจุบันข้อมูลจากสถาบันการศึกษาความมั่นคงในพริทอเรียพบว่า จำนวนประชากรทั้งหมดของกลุ่มบริกส์รวมกันมีสัดส่วนถึง 42% ของประชากรทั้งหมดของโลก แต่สมาชิกกลับมีสิทธิออกเสียงในหน่วยงานระดับโลกอย่าง Word Bank และ IMF น้อยกว่า 15%
ทั้งนี้ ในปี 2014 ทางกลุ่มบริกส์ได้จัดตั้งธนาคาร New Development Bank ขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลกับ IMF และ World Bank โดยปี 2021 บังกลาเทศและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เข้าร่วมกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศดังกล่าว ซึ่งแถลงการณ์ของธนาคาระบุว่า อียิปต์และอุรุกวัยกำลังจะเข้าร่วมในเร็ววันนี้
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จีน รัสเซีย แอฟริกาใต้ และบราซิล สนับสนุนการรับสมาชิกใหม่ แต่อินเดียกลับไม่เห็นด้วย ขณะที่บราซิลแม้เห็นด้วยในการเพิ่มสมาชิก แต่ก็ต้องการให้มีประเทศจากกลุ่มลาตินอเมริกาเพิ่มเข้ามาด้วย
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า การเพิ่มจำนวนสมาชิกไม่น่าจะส่งผลทางเศรษฐกิจใดๆ มากนัก พร้อมเตือนว่า การเพิ่มจำนวนสมาชิกที่เศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งอาจทำให้กลุ่มบริกส์อ่อนแอลง โดยนอกจากอิหร่านและซาอุดีอาระเบียแล้ว ยังมีอีกหลายชาติที่แสดงความสนใจขอเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นอาร์เจนตินา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอลจีเรีย อียิปต์ บาห์เรน และอินโดนีเซีย ตลอดจนอีกสองประเทศในแอฟริกาตะวันออกกับแอฟริกาตะวันตก ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยชื่อประเทศแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กลุ่มบริกส์จะมีการประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆ รวมถึงการเพิ่มจำนวนสมาชิกในเดือนสิงหาคมปีนี้ ซึ่งทางกลุ่มมั่นใจว่าผู้นำของชาติสมาชิก รวมถึงประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย จะเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้
อ้างอิง: