เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือนแล้ว กับเส้นตายที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน จากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ประกาศว่า จะนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (EU) ให้ได้ในเวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ตามเวลาท้องถิ่น
ย้อนหลังกลับไปสักเล็กน้อย จอห์นสันไม่ประสบความสำเร็จในความพยายามที่จะพักการประชุมสภา เพื่อจะไม่ให้สภามีโอกาสผ่านร่างกฎหมายป้องกันการออกจาก EU แบบไร้ขอตกลง (No-Deal Brexit) เพราะถูกศาลสูงวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือเป็นโมฆะ ทำให้สภาล่างกลับมาประชุมกันอีกครั้ง และผ่านกฎหมายควบคุมวาระการประชุมสภา เพื่อให้ในเวลาต่อมา สามารถเสนอกฎหมายป้องกัน No-Deal Brexit ได้
และในที่สุด กฎหมายป้องกัน No-Deal Brexit ก็เกิดขึ้นสำเร็จ โดยใจความสำคัญก็คือ หากสหราชอาณาจักรยังไม่สามารถทำข้อตกลงในการออกจากสหภาพยุโรปได้สำเร็จภายในวันที่ 19 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีจะต้องมีหน้าที่ไปเจรจาขอขยายเวลาออกจาก EU ออกไปอีกครั้ง เป็นวันที่ 31 มกราคม 2021 ซึ่งก่อนหน้านี้กำหนดการ Brexit ก็เลื่อนมา 2 ครั้งแล้ว แต่ก่อนหน้านี้จอห์นสันยังคงแสดงท่าทีแข็งขันว่า ต้องการพาสหราชอาณาจักรออกจาก EU ให้ได้ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีข้อตกลงเกิดขึ้นก็ตาม
ส่วนท่าทีของพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคเลเบอร์ หลังจากที่จอห์นสันขอพักการประชุมสภาไม่สำเร็จ เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคเลเบอร์ ก็บอกทันทีว่า จอห์นสันควรลาออกจากตำแหน่ง พร้อมแสดงจุดยืนว่า ต้องการให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด แต่ยังยืนยันว่า ต้องมีการการันตีก่อนว่าจะไม่เกิด No-Deal Brexit ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิด No-Deal Brexit นี้เองที่ถือเป็น ‘จุดยืนร่วม’ ที่ชัดเจนของพรรคฝ่ายค้านหลายพรรค
พรรคเลเบอร์ยังบอกด้วยว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง แล้วทางพรรคได้เป็นรัฐบาล จะมีการลงประชามติอีกครั้งว่าจะอยู่ต่อไปใน EU หรือจะออกภายใต้ข้อตกลงที่ ‘เชื่อถือได้’ กันแน่ แต่ถึงกระนั้น ด้วยเวลาที่กระชั้นชิด หากมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นจริงและเป็นไปตามกรอบเวลาปกติ ก็ยากที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นทันก่อนวันที่ 31 ตุลาคมนี้
นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านยังคงมีความพยายามในการหารือเพื่อจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อหวังว่าจะได้รัฐบาลรักษาการมาหยุดยั้ง No-Deal Brexit แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องกรอบเวลา รวมทั้งยังมีท่าทีของ ส.ส. อีกบางส่วน เช่น ส.ส. จากพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ที่ยังไม่ยอมสนับสนุนคอร์บินเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ หากว่ารัฐบาลถูกโหวตให้แพ้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
โดยพวกเขามองว่า นายกรัฐมนตรีรักษาการควรเป็นคนอื่นที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกสภาล่างได้ทั้ง 2 พรรคใหญ่ คือพรรคคอนเซอร์เวทีฟและพรรคเลเบอร์ หรือที่เรียกกันว่า แนวคิด ‘รัฐบาลแห่งความเป็นเอกภาพของชาติ’ แต่ก็มีเสียงเตือนว่า หากฝ่ายค้านยังขาดฉันทามติในเรื่องนี้ การหยุดยั้ง No-Deal Brexit ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้
ตัดกลับมาที่การเจรจาเพื่อหาข้อตกลงเกี่ยวกับ Brexit ล่าสุดสหราชอาณาจักรยื่นข้อเสนอ Brexit ใหม่ไปยังสหภาพยุโรป โดยประเด็นสำคัญก็คือเรื่องที่ถกเถียงกันมานานก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นที่พรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์
อย่างที่ทราบกันว่า สหราชอาณาจักรนั้นประกอบด้วยอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ แต่สาธารณรัฐไอร์แลนด์นั้นเป็นอีกหนึ่งประเทศต่างหาก ซึ่งเป็นสมาชิกของ EU ขณะนี้สหราชอาณาจักรยังอยู่ใน EU นั่นหมายถึงสหราชอาณาจักรใช้ระบบตลาดเดียว (Single Market) กับ EU และเป็นสมาชิกของสหภาพศุลกากรของ EU ด้วย
ระบบตลาดเดียวของ EU นั้นหมายถึงการเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ เงินทุน และประชากรอย่างเสรีภายใน EU โดยใช้ข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าต่างๆ แบบเดียวกันทั้งหมด ส่วนสหภาพศุลกากรนั้นหมายถึงการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรจากประเทศนอก EU ในอัตราเดียวกัน และเมื่อนำเข้ามาใน EU โดยผ่านการตรวจศุลกากรแล้ว ก็สามารถส่งไปขายในประเทศอื่นใน EU ได้โดยไม่ต้องเสียภาษีอีก
อย่างไรก็ตาม ตามข้อตกลงที่เรียกว่า Good Friday Agreement ที่เป็นข้อตกลงแก้ความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือในอดีตระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า พรมแดนระหว่างไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือจะไม่มีการตั้งด่านตรวจความปลอดภัย ประเด็นก็คือ หากต่อจากนี้สหราชอาณาจักรไม่ได้อยู่ใน EU แล้ว และมีการออกจากทั้งตลาดเดียวและสหภาพศุลกากร จะเท่ากับว่า การตรวจคนเข้าเมืองและตรวจศุลกากรสินค้าที่ชายแดนระหว่างไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนืออาจจะต้องกลับมา หรือที่เรียกกันว่าเป็น ‘Hard Border’ ซึ่งอาจส่งผลกระทบตามมาอีกมาก ทุกฝ่ายจึงพยายามหาทางออกให้กับประเด็นนี้
ในสมัย เทเรซา เมย์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีข้อเสนอที่เรียกว่า Backstop เพื่อเป็นทางออกให้กับปัญหาสองไอร์แลนด์ โดยจะให้ทั้งสหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพศุลกากรของ EU ต่อไป ส่วนตลาดเดียวนั้นจะเหลือไว้แค่ไอร์แลนด์เหนือที่ยังอยู่ และส่วนที่เหลือของสหราชอาณาจักรจะออกจากตลาดเดียวไป ทั้งนี้ เพื่อให้พรมแดนระหว่างสองไอร์แลนด์คงสภาพไว้เช่นเดิม ซึ่งเมย์รับข้อเสนอนี้
แต่เมื่อเมย์ไม่สามารถทำให้สภารับข้อตกลง Brexit ได้ถึง 3 ครั้งซ้อน เธอตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และเท่ากับการพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่มาใหม่ (และคือคนปัจจุบัน) อย่าง บอริส จอห์นสัน ปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอ Backstop ด้วยเกรงว่า จะทำให้สหราชอาณาจักรต้องอยู่ในระบบศุลกากรเดียวกับ EU ไปอีกนานแสนนาน
ข้อเสนอล่าสุดที่รัฐบาลของจอห์นสันเสนอไปยังสหภาพยุโรปนั้นต่างออกไป มันถูกระบุว่า ทั้งสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพศุลกากร และเฉพาะส่วนไอร์แลนด์เหนือเท่านั้นที่จะยังคงอยู่ในตลาดเดียว ส่วนที่เหลือของสหราชอาณาจักรจะออกจากตลาดเดียวไป
จากข้อเสนอนี้ เท่ากับว่า
1. จะต้องมีการตรวจศุลกากรเกิดขึ้น เมื่อสินค้าเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างสองไอร์แลนด์
2. ต้องมีการตรวจมาตรฐานสินค้าเกิดขึ้นเมื่อสินค้าเดินทางระหว่างไอร์แลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือ (ซึ่งยังคงอยู่ในตลาดเดียวของ EU) กับส่วนที่เหลือของสหราชอาณาจักร (ซึ่งออกจากตลาดเดียวไปแล้ว)
หมายเหตุแรกก็คือ แม้ว่าการตรวจศุลกากรจะเกิดขึ้นระหว่างสองไอร์แลนด์ แต่ข้อเสนอนี้พยายามทำให้การตรวจศุลกากรเป็นเรื่องเล็กและง่ายที่สุด และจะไม่เกิดขึ้นที่พรมแดน แต่เกิดขึ้นที่ ‘สถานที่ที่กำหนด’ ซึ่งอาจเป็นสถานประกอบการหรือที่อื่นๆ ในไอร์แลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือ แต่เอาเข้าจริงก็ถือว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรคือ ‘สถานที่ที่กำหนด’ กันแน่ นอกจากนี้ยังเสนอให้ผู้ประกอบการรายเล็กถูกยกเว้นจากกระบวนการทางศุลกากรและการเรียกเก็บภาษีด้วย
หมายเหตุต่อมาคือ สำหรับการยังอยู่ร่วมในตลาดเดียวของไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งจะต้องยอมรับมาตรฐานสินค้าของ EU จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาและผู้บริหารของไอร์แลนด์เหนือก่อน นอกจากนี้สภาตลอดจนผู้บริหารของไอร์แลนด์เหนือจะมีโอกาสทบทวนความเห็นชอบนี้ได้ทุกๆ 4 ปีด้วย หากเมื่อใดที่เห็นว่าควรยับยั้งการใช้มาตรฐานเดียวกับ EU การยับยั้งนั้นจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีถัดไป
จอห์นสันแถลงข้อเสนอนี้ไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมแสดงท่าทีว่า ข้อเสนอนี้เป็นการ ‘ประนีประนอม’ ให้กับทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ขณะที่ปฏิกิริยารอบด้านยังดูเสียงแตก เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ออกมาโต้ว่า ข้อเสนอนี้แย่กว่าข้อเสนอของ เทเรซา เมย์ เสียอีก เพราะผ่อนคลายกฎระเบียบมากเกินไป แล้วก็ออกมากระตุ้นลูกพรรคไม่ให้โหวตรับข้อเสนอนี้
แต่เมื่อหันไปที่ไอร์แลนด์เหนือ พรรค DUP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองท้องถิ่นของไอร์แลนด์เหนือและเป็นพันธมิตรกับพรรคคอนเซอร์เวทีฟ มีท่าทีสนับสนุนข้อเสนอนี้ และ ส.ส. ที่เชียร์ Brexit หลายคนก็ออกมาบอกว่า น่าจะเป็นสัญญาณว่า ข้อเสนอนี้อาจจะผ่านสภาได้ง่ายขึ้น แต่พรรคอื่นๆ อีกบางพรรคในไอร์แลนด์เหนือก็บอกว่า ข้อเสนอนี้จะทำให้ไอร์แลนด์เหนือตกอยู่ในวัฏจักรแห่งความไม่แน่นอนตลอดไป
อีกด้าน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปก็บอกว่า ข้อเสนอนี้ยังมีจุดที่เป็นปัญหา และยังต้องทำงานเรื่องนี้กันต่อ ส่วน มิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าคณะเจรจา Brexit ของฝั่ง EU ก็ออกมาบอกสั้นๆ ว่า การเจรจามีความคืบหน้า แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อบรรลุข้อตกลงเช่นกัน และ อังเกลา แมร์เคิล นายกฯ เยอรมนี ออกมาบอกว่า สมาชิกชาติ EU ล้วนสนับสนุนการทำหน้าที่ของบาร์นิเยร์อย่างเต็มที่ และย้ำว่า ‘เชื่อมั่น’ ในตัวบาร์นิเยร์ แต่ยังไม่อยากพูดอะไรมากไปกว่านี้ ขอไปอภิปรายกันอีกทีในภายหลัง
ล่าสุด มีการเปิดเผยเอกสารที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรส่งถึงศาลสกอตแลนด์ ระบุว่า บอริส จอห์นสัน จะส่งหนังสือถึง EU เพื่อขอเลื่อนกำหนดการ Brexit ออกไปอีกครั้ง หากไม่มีข้อตกลงใดเกิดขึ้นภายในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ แม้ว่าจากคำพูดของเจ้าตัวจะยังไม่ได้เปลี่ยนท่าทีไปจากคำเดิมว่า ‘31 ตุลาคมนี้ ออกแน่’ ไปแน่ แม้จะไม่มีดีลเกิดขึ้นก็ตาม ส่วนประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ก็ส่งสัญญาณว่า น่าจะมีการพิจารณาข้อเสนอของสหราชอาณาจักรในช่วงปลายสัปดาห์นี้ เพื่อที่จะดูว่า ดีลดังกล่าว ‘ไปต่อได้หรือไม่’ และยังมีห้วงเวลาสำคัญที่ต้องจับตา กับการประชุมสุดยอดผู้นำของ EU ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 ตุลาคมนี้ด้วย
แม้ว่าในทางทฤษฎี สหราชอาณาจักรจะยังสามารถยกเลิกมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ที่ระบุถึงขั้นตอนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป เพื่อให้ Brexit เป็นอันยกเลิก แต่ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ เทเรซา เมย์ ก็ยืนยันชัดว่า ไม่ควรทำ และเมื่อมาถึงมือ บอริส จอห์นสัน ก็ยิ่งชัดว่า เขาไม่น่าจะทำแบบนั้น เพราะในสัปดาห์ที่แล้ว จอห์นสันยังคงนำเสนอข้อมูลผ่านรายการวิทยุของ BBC ว่า หากสหราชอาณาจักรยังจำเป็นต้องอยู่ใน EU ต่อ จะมีค่าใช้จ่ายขั้นต้นที่ต้องจ่ายให้กับ EU ตกสัปดาห์ละ 406 ล้านปอนด์เลยทีเดียว (อย่างไรก็ตาม BBC ทำรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ Fact Check แย้งว่า แม้ 406 ล้านปอนด์ จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายก็จริง แต่ก็มีเงินส่วนลดอีกส่วนหนึ่ง แถมด้วยเงินที่ EU มอบแก่สหราชอาณาจักรอีกส่วนหนึ่งด้วย ทำให้จริงๆ แล้วตัวเลขที่จ่ายไปจริงน่าจะเหลือแค่ราวๆ 210 ล้านปอนด์ต่อสัปดาห์ และตัวเลขนี้ยังไม่หักเงินที่ EU จ่ายให้ภาคเอกชนในสหราชอาณาจักรโดยตรงด้วยซ้ำ)
นอกจากนี้ที่สหราชอาณาจักรก็ยังคงมีการยิงสื่อโฆษณาจากรัฐบาลภายใต้แคมเปญ ‘Get Ready for Brexit’ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในสื่อนอกบ้านและสื่อออนไลน์ แถมด้วยการจัดอีเวนต์เตรียมความพร้อมเพื่อ Brexit ในช่วงเดือนตุลาคมนี้อีก
ดังนั้น เส้นทางสู่คำตอบสุดท้ายจึงยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า การเจรจาข้อตกลง Brexit กับสหภาพยุโรปจะประสบความสำเร็จจนนำไปสู่การพ้นสมาชิกภาพได้ หรือ บอริส จอห์นสัน จะต้องทำในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำที่สุดคือ การเป็นผู้ไปขอเลื่อน Brexit อีกครั้ง หรืออาจมี ‘เซอร์ไพรส์’ อื่นใดอีกนับจากนี้ แต่ที่แน่ๆ รัฐบาลของ บอริส จอห์นสัน กำลังทำศึกสองด้าน ทั้งการเจรจากับ EU ให้บรรลุผล และการต่อสู้กับฝ่ายค้านในสภา
และนี่คือสถานการณ์ล่าสุดจากสหราชอาณาจักรเมื่อแรกย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล