×

BREAKING: ผบ.ตร. ลงนามให้ ‘ผู้กำกับโจ้’ ออกจากราชการไว้ก่อน หลังถูกร้องเรียน ทำร้ายร่างกายโดยการทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิต

โดย THE STANDARD TEAM
25.08.2021
  • LOADING...
ผู้กำกับโจ้

วานนี้ (24 สิงหาคม ) พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 407/2564 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ใจความว่า

 

ด้วย พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (ผกก.สภ.) เมืองนครสวรรค์ รับเงินเดือน (ระดับ) ส.4 ขั้น 20 อัตราเงินเดือน 43,330 บาท มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 406/2564 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ในเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกร้องเรียนว่าได้ทำร้ายร่างกายโดยการทรมาน จิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติด เพื่อเรียกเงินจำนวน 2 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต และถูกดำเนินคดีอาญา โดยกล่าวหาว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามเลขคดีอาญาของสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ที่ 1165/2564 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2564 และมีเหตุให้พักราชการได้ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2557 ข้อ 3 (1) คือ ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในราชการอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ และได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนพิจารณาคดีที่เป็นเหตุให้สั่งพักราชการนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

ฉะนั้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ประกอบกับกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 ข้อ 8 จึงให้ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

 

อนึ่ง ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามคำสั่งนี้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.ตร. ได้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 105 ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 90 วันนับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X