วันนี้ (20 ตุลาคม) ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ได้นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
จากกรณีที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฎิรูป ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรค มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทั้งที่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และมิได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยศาลเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 15.20 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย โดยมีสาระสำคัญเบื้องต้นโดยสรุปว่า การสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูปเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการของข้อบังคับพรรคตามที่กำหนด กรรมการบริหารพรรคมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นไปตามข้อบังคับพรรค โดยระบุเหตุผลว่า กรรมการบริหารพรรคหลายคนลาออก และขาดบุคลากรสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบตามกฎหมายพรรคการเมือง ได้ยืนยันสอดคล้องว่ามีการลงมติตามการประชุมดังกล่าวจริง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ให้สิ้นสภาพ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงเป็นไปโดยชอบ
ส่วนที่ผู้ร้องร้องว่าผู้ถูกร้องมีเจตนาซ่อนเร้น ศาลเห็นว่าไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
เมื่อ กกต. ประกาศการสิ้นสภาพ เมื่อ 6 กันยายน 2562 ทำให้พรรคสิ้นสุดลงตามกฎหมายพรรคการเมือง ทำให้สมาชิกสภาพของผู้ร้องสิ้นสุดลง แต่เนื่องจากเป็นการยุบพรรคการเมืองโดยมีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองการสิ้นสภาพจากการยุบพรรคการเมือง จึงเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่พรรคสิ้นสภาพ ผู้ร้องจึงเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ และปรากฏข้อเท็จจริงผู้ถูกร้องได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ
ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่บอกว่า ผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นผู้ถูกเสนอชื่อในบัญชี ส.ส. รายชื่อ จึงไม่อาจเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้มาซึ่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ มีวัตถุประสงค์บังคับช่วงเลือกตั้งและก่อนการเลือกตั้ง จึงเป็นคนละกรณี กรณีเป็นกรณีเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง และผู้ถูกร้องได้เป็น ส.ส. แล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องจึงไม่พ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)