×

กนง. ลดดอกเบี้ยฯ เหลือ 1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เผยเศรษฐกิจไทย 2563 อาจโตต่ำ 2.8%

05.02.2020
  • LOADING...

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 1.25% ต่อปี เหลือ 1.00% ต่อปี ถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทยนับตั้งแต่ปี 2543 ที่ใช้เป้าหมายนโยบายการเงินภายใต้กรอบแบบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Inflation Targeting) 

 

ทั้งนี้ กนง. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 2.8% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยปี 2563 ไทยเจอ 3 ปัจจัยเสี่ยงทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากงบประมาณปี 2563 ที่ล้าช้าและภัยแล้ง

 

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อช่วยเหลือ และเน้นเสริมสภาพคล่อง (เชิงธุรกิจ) SMEs ครัวเรือนและการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจ โดยช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง และภาครัฐในการทำมาตรการผ่อนคลาย เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ได้แก่

 

  • ปลายเดือนมกราคม 2563 มีมาตรการร่วมกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ผ่อนคลายเกณฑ์ลงทุน 
  • วันนี้ ทางกระทรวงการคลังจะประกาศมาตรการผ่อนคลายให้ผู้ส่งออกสามารถเก็บเงินในต่างประเทศได้มากขึ้นจากเดิมที่อยู่ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม กนง. ต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และอาจออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม

 

“เรื่องค่าเงินบาท กนง. ยังชะล่าใจไม่ได้ เพราะมาตรการที่ออกเมื่อปีก่อน ทั้งผ่อนลายเงินทุนไหลออกยังต้องทำต่อเนื่อง โดยในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำ คณะกรรมการหารือกันว่า เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว เซนติเมนต์เป็นแบบ Risk Off ดังนั้นการจะไปเก็งกำไร ช่วงนี้อาจยังไม่มี แต่ในช่วงต่อไปต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และสถานการณ์แวดล้อมต้องไม่ชะล่าใจและติดตามต่อเนื่อง”

 

ส่วนการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะมีการปรับในการประชุม กนง. ครั้งหน้า เดือนมีนาคม 2563

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising