วันนี้ (15 มิถุนายน) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ป.พ.พ. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม
หลังเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุม ส.ส. โดยเสียงข้างมากเห็นชอบให้ส่งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล ที่กำลังเข้าสู่วาระ 1 ในสภา กลับไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนและรอผล 60 วัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของรัฐบาลทำความเห็นว่า ครม. ไม่สมควรเห็นชอบรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยเหตุผล 3 ประเด็น 1 ใน 3 ประเด็นมีการนำแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 กรณี ป.พ.พ. มาตรา 1448 เรื่องการสมรสทำได้เฉพาะหญิงชายเท่านั้น มาพิจารณาด้วย และเห็นว่าควรตราเป็นกฎหมายเฉพาะ เช่น ร่างกฎหมายคู่ชีวิต ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป อันมีการยึดถือหลักการตามวิถีธรรมชาติของมนุษย์และวิถีชีวิตดั้งเดิม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของสังคมไทยมาอย่างช้านานว่า การสมรสกระทำได้เฉพาะเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น
ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม ครม. รับทราบผลการพิจารณาของกฤษฎีกา และเร่งให้กระทรวงยุติธรรมเร่งพิจารณาร่างกฎหมายคู่ชีวิตและร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง (ฉบับกระทรวงยุติธรรม) แล้วเสนอ ครม. เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว
ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน เพียง 1 วันก่อนที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล เข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 ของสภา ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ของกระทรวงยุติธรรม
ซึ่งร่างนี้รัฐบาลบอกว่ารับฟังความคิดเห็นทุกมิติแล้ว ผู้แทนกลุ่มศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามไม่ขัดข้อง เพราะเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะวิปพรรคร่วมรัฐบาล ได้ลุกขึ้นเพื่อเสนอญัตติให้สภาได้รวมพิจารณากับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เนื่องจากเห็นว่ายังมีร่าง พ.ร.บ. อีก 3 ฉบับ ก่อนที่ที่ประชุม ส.ส. จะมีการโหวตให้รวมทั้ง 4 ร่างมาพิจารณาในคราวเดียวกันนี้ รวมถึงให้มีการแยกการลงมติรายฉบับ
ต่อมาได้เปิดให้ ส.ส. จากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็น ส.ส. กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ได้เปิดอภิปรายเป็นคนแรก พร้อมระบุตอนหนึ่งว่า
“ธัญเป็นกะเทย ยืนอยู่ตรงนี้ ธัญเป็นธรรมชาติค่ะ ธัญเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีลมหายใจ กะเทย LGBTQ เราเป็นวิทยาศาสตร์ เรามีลมหายใจ โลกเราจะผลิตยานอวกาศไปทำไม เพื่อที่จะบินออกไปแล้วหยิบหินดาวอังคารแล้วก็บอกกับโลกใบนี้ว่า นี่ไงวิทยาศาสตร์ นี่คือหินของดาวอังคาร เราบินไปไกลขนาดนั้นเพื่อยอมรับวิทยาศาสตร์นอกโลก แต่คนที่ยืนข้างๆ ท่าน เป็นเพื่อนท่าน ท่านไม่ยอมรับและมองว่าผิดธรรมชาติ”
ขณะที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของ ครม. แทนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล ที่ไปตัดคำว่าชาย-หญิงออกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กระทบสิทธิประชาชนที่เป็นชายหญิงทั่วประเทศ
ก่อนที่ธัญวัจน์จะเป็น ส.ส. ผู้อภิปรายสรุปคนสุดท้ายอีกครั้ง จากนั้น สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้อภิปรายสรุปในส่วนของร่างที่ ครม. เป็นผู้เสนอ ระบุว่า มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะมอบกฎหมายนี้ให้เป็นของขวัญของ LGBTQ
จากนั้นประธานได้เปิดให้มีการลงมติในวาระที่ 1 วาระรับหลักการ โดยมีผลการลงมติดังนี้
ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และคณะ เป็นผู้เสนอ (กฎหมายสมรสเท่าเทียม)
- เห็นด้วย 212 เสียง
- ไม่เห็นด้วย 180 เสียง
- งดออกเสียง 12 เสียง
- ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง
เป็นอันว่ากฎหมายดังกล่าวที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับหลักการ
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
- เห็นด้วย 229 เสียง
- ไม่เห็นด้วย 167 เสียง
- งดออกเสียง 6 เสียง
- ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง
เป็นอันว่ากฎหมายดังกล่าวที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับหลักการ
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
- เห็นด้วย 230 เสียง
- ไม่เห็นด้วย 169 เสียง
- งดออกเสียง 7 เสียง
- ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
เป็นอันว่ากฎหมายดังกล่าวที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับหลักการ
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. ซึ่ง อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ และคณะเป็นผู้เสนอ
- เห็นด้วย 251 เสียง
- ไม่เห็นด้วย 124 เสียง
- งดออกเสียง 30 เสียง
- ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง
เป็นอันว่ากฎหมายดังกล่าวที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับหลักการ