×

กำแพงความเก๋าของวงการเทนนิสที่ยากจะก้าวข้าม

23.01.2023
  • LOADING...

สารคดี Break Point สารคดีเกี่ยวกับวงการเทนนิสของ Netflix ซึ่งเป็นสารคดีกีฬาชุดใหม่ของค่ายสตรีมมิงชื่อดัง ที่ได้ทีมผู้สร้างชุดเดียวกับทีมสร้างสารคดีที่ครองความนิยมชื่อดังอย่าง Drive to Survive สารคดีชุดนี้เพิ่งออนแอร์ไปเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา โดยปัจจุบันออกอากาศไปแล้ว 5 ตอน มีหลายช่วงหลายตอนน่าสนใจที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง

 

 

 

 

สารคดีชุดนี้ถ่ายทำในการแข่งขันเทนนิสเมื่อฤดูกาลก่อน แต่ยังสามารถพูดถึงได้ต่อเนื่อง ทั้งที่การแข่งขันเทนนิสฤดูกาลใหม่เปิดฉากแล้ว หนึ่งในประเด็นน่าสนใจที่น่าหยิบยกมาพูดถึงคงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘ภารกิจของนักเทนนิสพรสวรรค์รุ่นใหม่ที่ต้องการโค่นล้มตำนานนักหวดแห่งยุค’ เพราะในเทนนิสออสเตรเลียนโอเพนตอนนี้ ตำนานที่ว่านั้นยังโลดแล่นไปสู่รอบ 16 คนสุดท้าย และหาคนโค่นล้มได้ยากเหลือเกิน ครับ…เรากำลังหมายถึง โนวัค ยอโควิช อดีตนักเทนนิสหมายเลข 1 ของโลกจากเซอร์เบีย

 

นอกจากที่โนเลจะเป็นอดีตแชมป์แกรนด์สแลมคนสุดท้ายที่หลงเหลือในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวของเทนนิสแกรนด์สแลม ออสเตรเลียนโอเพน ในปีนี้แล้ว เขายังเป็นนักเทนนิสที่อายุมากที่สุดในการแข่งขันประเภทเดี่ยวที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน แม้จะรวมในประเภทหญิงเดี่ยวเข้าไปแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยากที่จะปฏิเสธว่าเขาคือกำแพงที่นักเทนนิสยุคใหม่ยากที่จะก้าวข้ามไปได้

 

ในสารคดี Break Point มีช่วงหนึ่งที่ เฟลิกซ์ โอแชร์ อเลียซิม นักเทนนิสดาวรุ่งวัย 22 ปี มือ 7 ของโลก จากแคนาดา กล่าวว่า “ทศวรรษที่ผ่านมา เราโชคดีที่ได้พบเจอกับยุคสมัยแห่งความยิ่งใหญ่อย่าง โรเจอร์ (เฟเดอเรอร์), ราฟา (นาดาล), เซเรนา (วิลเลียมส์) หรือ โนวัค (ยอโควิช) แต่เราจะรอให้พวกเขาเลิกเล่นกันเองไม่ได้ เราต้องหาทางเอาชนะพวกเขา”

 

แต่ถึงอย่างนั้นนี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการจะล้ม ‘ราชาแห่งเมลเบิร์น’ รายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาได้กลับมาเล่นใน ‘สวนหลังบ้าน’ อย่างเมลเบิร์นพาร์กอีกครั้ง หลังจากที่ปีก่อนถูกเนรเทศออกจากออสเตรเลียไป เนื่องจากไม่ยอมรับวัคซีนโควิด

 

หลังเอาชนะ กริกอร์ ดิมิตรอฟ นักเทนนิสเพื่อนซี้จากบัลแกเรีย โนเลที่ปัจจุบันวัย 35 ปี ก็โดนถามประเด็นเกี่ยวกับอายุที่มากขึ้นของเขา ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเทนนิสรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาได้อย่างไร? และคำตอบของเขาคือ…

 

“รุ่นใหม่ไหนล่ะ? คุณรู้ไหม 35 นี่แหละคือ 25 อีกครั้ง!”

 

แน่นอนว่านั่นเป็นคำตอบสไตล์กวนๆ แบบยอโควิชที่เราเคยเห็นกันจนชินหูชินตา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากำแพงของเขาที่กั้นขวางไม่ให้บรรดานักเทนนิสคลื่นลูกใหม่ไปสู่แชมป์แกรนด์สแลมหรือตำแหน่งมือ 1 ของโลกได้ ยังคงสูงมากไม่ต่างจากหลายปีที่ผ่านมาเลย

 

อาจจะจริงที่ว่า เมื่อปีก่อน การ์ลอส อัลการาซ นักเทนนิสสแปนิชมือ 1 ของโลกคนปัจจุบัน ก้าวแซงนักหวดรุ่นพี่ขึ้นมาเป็นหัวแถวของโลกได้ก็จริง แต่ต้องอย่าลืมว่าปีที่ผ่านมายอโควิชพลาดการลงแข่งขันรายการสำคัญไปหลายรายการ ซึ่งส่งผลให้เขาพลาดการเก็บคะแนนสะสมไปมากมาย โดยบางรายการในนั้นเขาก็เป็นแชมป์เก่าของการแข่งขัน ทำให้คะแนนที่มีอยู่หายไปทั้งหมดด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตำแหน่งมือ 1 ของโลกเปลี่ยนมือหลายครั้งในปีที่ผ่านมา ก่อนที่สุดท้ายจะเป็นนักหวดดาวรุ่งจากสเปนที่ครองตำแหน่งนี้

 

 

รายการสำคัญที่ยอโควิชพลาดการลงสนามในปีก่อนนอกจากออสเตรเลียนโอเพนที่มีดราม่าเรื่องการเข้าประเทศจนเป็นเรื่องราวใหญ่โตแล้ว รายการอื่นๆ ส่วนมากก็เป็นรายการคะแนนสูงๆ ที่จัดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการสั่งห้ามคนที่ไม่ได้รับวัคซีนเข้าประเทศอย่าง อินเดียนเวลส์มาสเตอร์ส, ไมอามีโอเพน และซินซินนาติมาสเตอร์ส ขณะที่แคนาเดียนโอเพนก็เป็นอีก 1 รายการระดับ ATP 1000 ที่ยอโควิชพลาดการลงสนามด้วยเหตุผลเดียวกัน และนอกจากรายการระดับมาสเตอร์ 1000 แล้ว ศึกยูเอสโอเพน รายการระดับแกรนด์สแลม ก็เป็นอีก 1 รายการที่ โนเลพลาดการแข่งขันด้วย 

 

ซึ่งหากนับรวมรายการระดับสูงที่เขาพลาดการลงเล่นแล้ว เท่ากับว่าเขาพลาดการลุ้นคะแนนสะสมสูงสุดถึง 8,000 คะแนนเลยทีเดียว

 

ดังนั้นในปีนี้เมื่อเขาได้รับอนุญาตให้เล่นในศึกออสเตรเลียนโอเพน ก็มีโอกาสสูงที่เขาจะได้ลงเล่นในศึกเฟรนช์โอเพนเช่นกัน หลังฝรั่งเศสประกาศเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกชาติโดยไม่มีเงื่อนไขตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งต่างจากปีก่อนที่ยอโควิชพลาดการเล่นรายการนี้ เนื่องจากไม่สามารถเข้าประเทศได้ เพราะไม่ได้ฉีดวัคซีน

 

ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีรายการใหญ่ระดับ ATP 1000 รวมถึงศึกแกรนด์สแลม ยูเอสโอเพน ก็มีท่าทีผ่อนคลายขึ้น แม้จะยังไม่ยกเลิกกฎที่บังคับให้ผู้ที่เข้าประเทศต้องฉีดวัคซีนโควิดให้ครบ 2 เข็มก็ตาม แต่ก็มีแนวโน้มว่าก่อนฤดูกาลเทนนิสในประเทศจะเปิดฉาก พวกเขาอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงกฎข้อนี้ก็เป็นได้

 

หากยอโควิชสามารถลงเล่นได้ในทุกทัวร์นาเมนต์ใหญ่ของศึกเทนนิสฤดูกาลนี้ ก็มีโอกาสสูงที่เขาจะยังครองตำแหน่งสูงสุดบนตาราง ATP ซึ่งเขาอาจได้ขึ้นไปบนนั้นช่วงสิ้นเดือนนี้เลยก็ได้หากคว้าแชมป์ออสเตรเลียโอเพนปีนี้ได้สำเร็จ

 

ทั้งหมดที่ว่ามาหมายความว่า กำแพงของเขาที่กั้นระหว่างแชมป์แกรนด์สแลมหรือตำแหน่งมือ 1 ของโลก กับนักเทนนิสดาวรุ่ง หาได้สั้นลงเลยแม้แต่น้อย และยิ่งหากใครได้ดูการเล่นของยอโควิชในออสเตรเลียนโอเพนครั้งนี้ ก็จะเห็นว่าเขายังคงแข็งแกร่งเหมือนวัยรุ่นอายุ 25 แบบที่เขาบอกจริงๆ

 

ที่น่าสนใจคือ ในรอบ 16 คนสุดท้ายของศึกออสเตรเลียนโอเพนปีนี้ เป็นปีที่เต็มไปด้วย ‘คลื่นลูกใหม่’ สำหรับวงการเทนนิสชายอย่างแท้จริง เพราะนอกจากยอโควิชกับ โรแบร์โต เบาติสตา อากุต นักเทนนิสมือวางอันดับ 25 ของโลกจากสเปน วัย 34 ปีแล้ว ก็ไม่มีนักเทนนิสคนไหนอีกเลยที่ผ่านมาถึงรอบนี้โดยมีอายุเกิน 30 ปี โดยทั้ง 14 คนที่เหลือ คนที่อายุมากที่สุดได้แก่ โยชิฮิโตะ นิชิโอกะ นักเทนนิสมือ 33 ของโลกจากญี่ปุ่นที่อายุมากที่สุด 27 ปี รองลงมาเป็น คาเรน คาชานอฟ นักหวดรัสเซียมือ 20 ของโลกที่อายุ 26 ปี นอกจากนั้นอีก 12 คนเป็นนักเทนนิสอายุ 25 ปีหรือต่ำกว่าทั้งหมด โดยคนที่อายุน้อยที่สุด ได้แก่ โฮลเกอร์ รูน นักเทนนิสจากเดนมาร์ก มือ 10 ของโลก ซึ่งมีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น

 

นั่นหมายความว่า หากเฉลี่ยโดยไม่ดูฟอร์มการเล่น นักเทนนิสอายุน้อยมีอัตราส่วนมากถึง 7 ต่อ 1 หรือราว 87.5% และน่าจะมีโอกาสคว้าแชมป์มากกว่านักเทนนิสรุ่นเก๋า แต่แม้คลื่นลูกใหม่จะไล่คลื่นลูกเก่ามาเรื่อยๆ และมีจำนวนที่มากกว่าอย่างชัดเจน ทว่าการที่นักหวดอย่างยอโควิชยังรักษาฟอร์มระดับสูงของเขาไว้ได้ และยังลงแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสน้อยที่จะได้เห็นนักเทนนิสรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาแทนที่

 

นอกจากนี้นักเทนนิสอย่าง ราฟาเอล นาดาล ที่เป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่ถูกพูดถึงในสารคดี Break Point เช่นกัน ก็ยังเป็นอีกหนึ่งกำแพงสูงที่นักหวดรุ่นใหม่ยากจะปีนข้ามไปอีกราย แม้ว่าในเทนนิสออสเตรเลียนโอเพน ซึ่งกำลังแข่งขันกันอยู่ในตอนนี้ ราฟาจะตกรอบที่ 2 อย่างรวดเร็ว หลังพ่ายต่อ แจ็ค เดรเปอร์ นักเทนนิสมือ 38 ของโลก วัย 21 ปี จากสหราชอาณาจักร แต่ผลการแข่งขันในแมตช์นี้ต้องใส่ดอกจันตัวโตๆ ว่าเกิดขึ้นเพราะอาการบาดเจ็บ และเพิ่งมีการยืนยันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า อาการที่สะโพกของราฟาจะทำให้เขาต้องพักยาวนานราว 6-8 สัปดาห์เลยทีเดียว

 

แต่ระยะ 6-8 สัปดาห์ที่ราฟาต้องพักการแข่งขัน แม้จะยาวนาน แต่ก็ยังโชคดีที่ไม่ไปกระทบกับการแข่งขันในสวนหลังบ้านของเขาอย่างโรลังด์การ์รอส ในศึกเฟรนช์โอเพน ซึ่งเป็นรายการที่ต่อให้นาดาลฟอร์มย่ำแย่แค่ไหนก็ตาม แต่การลงเล่นที่นี่ ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เขาน่ากลัวเสมอ และยังเป็นกำแพงที่ไม่ว่าใครก็ยากที่จะข้ามไป ไม่ว่าจะเป็นนักเทนนิสรุ่นใหม่หรือรุ่นเดียวกันก็ตาม

 

ยอโควิชกับนาดาลยังคงเป็นกำแพงสำหรับนักเทนนิสรุ่นใหม่ที่ไม่ว่าใครก็อยากข้ามไป เพราะเขาทั้งคู่เป็นสัญลักษณ์ของนักหวดรุ่น ‘จตุรเทพ’ อันประกอบไปด้วย โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, ราฟาเอล นาดาล, โนวัค ยอโควิช และ แอนดี เมอร์เรย์ ที่ยังเหลืออยู่ หลังจากที่โรเจอร์เลิกเล่นไปแล้ว ส่วนเมอร์เรย์ก็ยังไม่สามารถกลับมาเล่นในระดับท็อปหรือคว้าแชมป์ได้หลังจากที่เขาต้องผ่าตัดรักษาสะโพกไปก่อนหน้านี้

 

 

สถานการณ์ของวงการเทนนิสชายต่างจากวงการเทนนิสหญิงอย่างชัดเจน โดยดับเบิลยูทีเอถูกมองว่าเข้าสู่ยุค ‘ผลัดใบ’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบันนักเทนนิสมือท็อป 10 ของโลก ไม่มีนักเทนนิสคนไหนเลยที่อายุถึง 30 ปี และหากมองให้ลึกกว่านั้นคือ แชมป์แกรนด์สแลมทั้งสี่คนเมื่อปีที่ผ่านมาก็ล้วนเป็นนักเทนนิสยุคใหม่ ไล่มาตั้งแต่ อีกา ซิออนเท็ก ที่คว้าไปได้ทั้งเฟรนช์โอเพนและยูเอสโอเพน ขณะที่วิมเบิลดันตกเป็นของ เอลินา รีบาคินา และออสเตรเลียนโอเพนปีก่อนแชมป์คือ แอชลีห์ บาร์ตี ที่รีไทร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม หากมองไปที่รอบ 16 คนสุดท้ายของเทนนิสออสเตรเลียนโอเพนปีนี้ แม้จะยังมีนักเทนนิสรุ่นใหม่จำนวนมากกว่านักหวดอายุหลักเลข 3 แต่นักเทนนิสหญิงรุ่นเก๋าก็ยังผ่านเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายมากกว่านักเทนนิสชายอยู่ดี โดยนักเทนนิสที่อายุเกิน 30 ปีที่ผ่านเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายมา 4 คนที่อายุมากที่สุดคือ จางฉ่วย นักเทนนิสมือ 22 ของโลก วัย 34 ปี จากจีน โดยที่ วิกตอเรีย อาซาเรนกา นักหวดมือ 24 ของโลกจากเบลารุส มีอายุมากรองลงมาที่ 33 ปี ขณะที่อีก 2 คน อายุ 30 ปีเท่ากัน ได้แก่ แคโรไลนา พลิสโควา นักหวดมือ 31 ของโลกจากสาธารณรัฐเช็ก และ มักดา ลิเน็ตต์ นักหวดมือ 45 ของโลกจากโปแลนด์

 

ดังนั้นสถานการณ์ในวงการเทนนิสหญิงจึงเป็นสถานการณ์ที่สุกงอมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะเข้าสู่ช่วงผูกขาดความสำเร็จแบบเดียวกับที่ เซเรนา วิลเลียมส์ เคยทำได้ในอดีต โดยคนที่ถูกคาดการณ์ว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นราชินีแห่งวงการคนต่อไปก็คือ อีกา ซิออนเท็ก ที่ปัจจุบันครองตำแหน่งนักเทนนิสมือ 1 ของโลกมาแล้ว 42 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยก้าวขึ้นมาเป็นนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลกคนที่ 28 หลังมีการจัดอันดับครั้งแรกในปี 1975 และมีแนวโน้มว่าเธอจะครองตำแหน่งมือ 1 ของโลกไปอีกยาวนานทีเดียว แม้ว่าในออสเตรเลียนโอเพนครั้งนี้เธอจะตกรอบ 4 ด้วยการพ่ายให้กับ เอเลนา รีบาคินา มือ 25 ของโลกจากคาซัคสถาน และแชมป์วิมเบิลดัน 2022 

 

ปัจจุบันซิออนเท็กรั้งอันดับ 21 ของนักเทนนิสหญิงที่ครองตำแหน่งมือ 1 ของโลกมายาวนานที่สุด โดยอันดับเหนือเธอมี 2 คน ได้แก่ ลินเซย์ ดาเวนพอร์ต จากสหรัฐอเมริกา และ จัสติน เอแน็ง จากเบลเยียม โดยทั้งคู่ครองตำแหน่งมือ 1 ของโลกต่อเนื่องยาวเท่ากันที่ 44 สัปดาห์ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องยากของซิออนเท็กที่จะทำลายสถิติของเธอทั้งคู่

 

ขณะที่นักเทนนิสหญิงที่ครองตำแหน่งมือ 1 ของโลกต่อเนื่องยาวนานที่สุดก็คือ สเตฟฟี กราฟ ตำนานเจ้าของโกลเดนสแลมจากเยอรมนี และ เซเรนา วิลเลียมส์ นักหวดหญิงเจ้าของสถิติแชมป์แกรนด์สแลมมากที่สุดในยุคโอเพนที่ 23 สมัย โดยทั้งคู่ครองตำแหน่งมือ 1 ของโลกติดต่อกัน 186 สัปดาห์ หรือกว่า 3 ปี 7 เดือน

 

วงการเทนนิสชายยังต้องรอเวลาต่อไปในการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ตราบใดที่ โนวัค ยอโควิช ยังเล่นในระดับสูงได้อย่างท็อปฟอร์ม และ ราฟาเอล นาดาล ยังเล่นได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่ว่าทั้งคู่จะอายุเท่าไร ก็ยากที่จะมีนักเทนนิสคนใดปราบพวกเขาลงได้ โดยเฉพาะสนามแกรนด์สแลมที่พวกเขาถนัด ไม่ว่าจะเป็นโนเลในเมลเบิร์นพาร์ก หรือราฟาในโรลังด์การ์รอสก็ตาม

 

ถ้ายังเป็นแบบนั้น นักเทนนิสรุ่นใหม่อาจต้องรอวันที่พวกเขาทั้งคู่เลิกเล่นไปเองจริงๆ หรือไม่ก็รอวันที่พวกเขาโรยราไปเอง โดยที่ทำได้แค่นั่งมองจริงๆ ก็ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X