×

ผลวิจัยชี้ โควิด-19 สายพันธุ์ P1 ของบราซิล อาจเป็นอันตราย หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากกว่า

16.04.2021
  • LOADING...
โควิด-19-สายพันธุ์-P1

มูลนิธิออสวัลโด ครูซ (Oswaldo Cruz Foundation: Fiocruz) สถาบันวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพของกระทรวงสาธารณสุขบราซิล เปิดเผยผลการวิจัยล่าสุดพบว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ P1 (20J/501Y.V3) ซึ่งเป็นที่จับตามองจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงในบราซิล กำลังกลายพันธุ์ไปในแนวทางที่อาจทำให้มันสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม

ทีมนักวิจัยของ Fiocruz ชี้ว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้กำลังเกิดการกลายพันธุ์ที่บริเวณส่วนหนามของมัน ซึ่งใช้ในการเข้าสู่ร่างกายและทำให้เซลล์ติดเชื้อ

โดยการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้ไวรัสสายพันธุ์นี้สามารถต้านทานต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พุ่งเป้าจัดการโปรตีนหนามของไวรัสได้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์ระบาดในบราซิลที่เลวร้ายอยู่แล้วทวีความรุนแรงมากขึ้นอีก

“เราเชื่อว่ามันเป็นอีกกลไกการหลบหนีที่ไวรัสสร้างขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน” เฟลิเป นาเวกา หนึ่งในทีมวิจัยของ Fiocruz กล่าว โดยเขาลงพื้นที่ในเมืองมาเนาส์ รัฐอามาโซนัส ซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดที่เกิดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ P1

นาเวกาชี้ว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสครั้งนี้มีความคล้ายคลึงกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่มีความรุนแรงมากกว่า ซึ่งผลการวิจัยบางฉบับชี้ว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพลดลงอย่างมากเมื่อใช้กับไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้

ผลวิจัยยังชี้ว่าไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ P1 นั้นสามารถแพร่ระบาดได้มากกว่าไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ปกติถึง 2.5 เท่า และมีความต้านทานต่อภูมิคุ้มกันที่มากกว่า อีกทั้งเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดรุนแรงระลอกที่ 2 ในบราซิล ซึ่งจนถึงตอนนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับ 3 ของโลก กว่า 13.7 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 365,000 คน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ

ขณะที่การระบาดรอบล่าสุดในบราซิล พบว่ามีผลกระทบมากขึ้นต่อกลุ่มที่อายุน้อย ซึ่งจากข้อมูลในเดือนมีนาคม พบว่า มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวในห้อง ICU นั้นมีอายุ 40 ปีหรือน้อยกว่า

 

ภาพ: Polina Tomtosova via ShutterStock

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X