สำนักข่าว BBC รายงานว่า ฟิโอกรุซ สถาบันด้านสาธารณสุขชั้นนำของบราซิลออกมาเตือนว่า ระบบสาธารณสุขตามเมืองใหญ่ๆ ส่วนมากของบราซิลใกล้จะล่มแล้วเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่พุ่งสูง เฉพาะวันอังคารที่ผ่านมามียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ไป 1,972 ราย ซึ่งถือเป็นสถิติยอดผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุด นอกจากนี้ เตียงในห้องไอซียูในเมืองหลวงของ 15 รัฐในบราซิล อาทิ รีโอเดจาเนโร, บราซิลเลีย และเซาเปาโล ยังรับผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 90% ของกำลังที่รับได้ ส่วนในอีกสองเมืองคือ ปอร์โต อเลเกร และคามโป กรานเด มีผู้ป่วยเกินปริมาณที่ห้องไอซียูจะรับได้แล้ว
รายงานของฟิโอกรุซเตือนว่า ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึง “ระบบสุขภาพที่ล้นเกินและถึงขั้นล่มสลาย”
เจเซม โอเรียอานา นักระบาดวิทยาของฟิโอกรุซระบุกับสำนักข่าว AFP ว่า การต่อสู้กับโควิด-19 ในปี 2020 นั้นถือว่าพ่ายแพ้ และยังไม่มีโอกาสที่จะย้อนกลับสถานการณ์อันน่าเศร้านี้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 “สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ของการฉีดวัคซีนจำนวนมาก หรือมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการจัดการกับโรคระบาด” เขาระบุ พร้อมกล่าวว่าการไม่ถูกลงโทษจากการจัดการใดๆ ก็ตาม เสมือนกลายเป็นกฎในบราซิลไปแล้ว
สื่อท้องถิ่นรายงานว่าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา บราซิลมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 70,000 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 38% การเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ที่ถูกตั้งชื่อว่า P1 ซึ่งคาดว่ามีต้นกำเนิดในเมืองมาเนาส์ของรัฐอามาโซนัส โดยข้อมูลเบื้องต้นจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล, วิทยาลัยอิมพีเรียลในกรุงลอนดอน และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร ระบุว่าไวรัสสายพันธุ์ P1 สามารถแพร่เชื้อได้มากขึ้นเป็นสองเท่าของเชื้อไวรัสดั้งเดิม และยังสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสชนิดดั้งเดิมได้ด้วย โดยโอกาสของการติดเชื้อซ้ำอยู่ที่ราว 25-60% ทว่าสัปดาห์ก่อน ฟิโอกรุซเพิ่งกล่าวไว้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ P1 นี้เป็นเพียงหนึ่งในสายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งได้กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักใน 6 จาก 8 รัฐที่ฟิโอกรุซทำการศึกษา
โรเบอร์โต แครนเคิล จากหน่วยสังเกตการณ์โควิด-19 ของบราซิล ระบุกับ Washington Post ว่า ข้อมูลดังกล่าวเปรียบเสมือน ‘ระเบิดปรมาณู’ ส่วน ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ระบุว่าสถานการณ์ในบราซิลถือว่า ‘น่ากังวลมาก และเตือนถึงการทะลักของโรคในภูมิภาคที่อาจเกิดขึ้นได้
“หากบราซิลไม่จริงจัง (ในเรื่องนี้) มันก็จะยังคงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียงรวมถึงที่อื่นๆ ด้วย” กีบรีเยซุสกล่าว
บราซิลสั่งซื้อวัคซีนของ AstraZeneca และ Sinovac รวมกว่า 200 ล้านโดส แต่จนถึงตอนนี้มีประชากรราว 8.6 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ที่ได้รับวัคซีนโดสที่สองมีแค่ราว 2.9 ล้านคนเท่านั้น
หัวหน้าฝ่ายการผลิตของฟิโอกรุซอย่าง เมาริชิโอ ซูมา ระบุเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับวัคซีนของ AstraZeneca ชี้ว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถใช้รับมือไวรัสสายพันธุ์ P1 ได้ ทว่า ทีมงานของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดออกมาระบุก่อนหน้านี้แล้วว่า วัคซีนจะให้การป้องกันที่ลดลง แต่ก็ยังควรจะป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้อยู่ ส่วนสำนักข่าว Reuters รายงานว่า ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในบราซิลระบุว่า วัคซีนของ Sinovac ใช้ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ P1 เช่นกัน
นอกจากนี้ จากการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ก็ชี้ว่า วัคซีนของ Pfizer-BioNTech สามารถต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวได้เช่นกัน แต่ทางการบราซิลอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อวัคซีนกับ Pfizer อยู่
เปาโล กูเอเดส รัฐมนตรีเศรษฐกิจของบราซิลระบุกับ Reuters ว่า Pfizer ได้ตกลงจัดส่งวัคซีนจำนวน 14 ล้านโดสภายในเดือนมิถุนายนนี้หลังการพูดคุยทางวิดีโอกับ ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ผู้ซึ่งแสดงออกโดยพยายามลดความสำคัญเกี่ยวกับภัยจากไวรัสมาโดยตลอด และไม่กี่วันที่ผ่านมาเขาก็เพิ่งขอให้สาธารณชน ‘หยุดคร่ำครวญ’ เกี่ยวกับโควิด-19 ด้วย
บราซิลถือเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และยอดผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับ 3 ของโลก
ภาพ: Fabio Teixeira / NurPhoto via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: