ท่ามกลางวิกฤตโควิด ตั้งแต่ต้นปี 2563 หนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตสวนทางขึ้นมาได้คือ ‘สินค้าแบรนด์เนม’ (Brand Name)
เจสสิกา เกอร์เบรี นักวิเคราะห์อาวุโส จาก Calamos Investments มองว่า โครงสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมสินค้าหรู ทำให้หุ้นในกลุ่มนี้เปลี่ยนภาพจากการเป็นหุ้นวัฏจักรสู่หุ้นที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว
“ความแข็งแกร่งของหุ้นเหล่านี้ถูกทดสอบผ่านความไม่แน่นอนของโควิด และวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดมุมมองเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมนี้”
ข้อมูลจาก Bain & Company ระบุว่า ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเกือบ 50% เป็น 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563 เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่ 3.97 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีการคาดการณ์ว่ายอดขายผ่านออนไลน์จะยังเติบโตต่อเนื่อง
หนึ่งในปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของสินค้าแบรนด์เนมเหล่านี้คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรชนชั้นกลางทั่วโลกที่คาดว่าจะแตะ 5.3 พันล้านคนในปี 2573 โดยเฉพาะในประเทศจีน
ทั้งนี้ เกอร์เบรีมองว่า อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตได้ในระดับ 5% ต่อปี พร้อมกับแนะนำ 3 เทคนิค การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้
- เข้าใจความแตกต่างของแต่ละบริษัท เพราะธุรกิจแบรนด์เนมแต่ละแห่งก็มีองค์ประกอบที่ต่างกัน เช่น บางบริษัทมุ่งพัฒนาเพียงแค่แบรนด์เดียว ขณะที่บางบริษัทอาจจะมีการกระจายหลายแบรนด์ หรืออย่างบริษัทขนาดใหญ่มักจะเติบโตด้วยการซื้อกิจการใหม่ๆ เข้ามาเสริม นอกจากนี้เรื่องของภูมิศาสตร์ก็มีผลต่ออุตสาหกรรมนี้ แม้ว่าหลายบริษัทในอุตสาหกรรมจะมีฐานที่ตั้งอยู่ในยุโรป แต่ฐานลูกค้าของบริษัทเหล่านี้กระจายไปทั่วโลก
- การปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัล นักลงทุนควรจะพิจารณาว่าแต่ละบริษัทปรับตัวในเรื่องของดิจิทัลอย่างไร เพราะไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อยกระดับประสบการณ์ให้กับลูกค้า ซึ่งความแตกต่างกันระหว่างบริษัทที่ทำได้และทำไม่ได้จะกว้างออกมากขึ้นเรื่อยๆ
- กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากจีน เป็นแรงหนุนสำคัญต่ออุตสาหกรรมสินค้าแบรนด์เนม ในปี 2562 ลูกค้าชาวจีนคิดเป็นประมาณ 35% ของยอดขายสินค้าแบรนด์เนมทั่วโลก ซึ่งตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2568
บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยผ่านบทความ Nomura Value Creation ว่า แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะกระทบต่อยอดขายสินค้าหรูบ้าง เนื่องจากการปิดร้านค้า ปิดดิวตี้ฟรี รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง แต่อีคอมเมิร์ซเป็นปัจจัยหนุนยอดขายอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มี Brand Loyalty รวมถึงผลกระทบจากโควิดต่อความมั่งคั่งของผู้มีรายได้สูงนั้นก็เกิดขึ้นเพียงจํากัด
Bloomberg Consensus คาดว่ารายได้ของบริษัทผู้ผลิตสินค้าหรูทั่วโลกจะเติบโตถึง 28% ในปี 2564 จาก 17% ในปีก่อนหน้า แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเปิดเมือง นอกจากนี้ตลาดเอเชียโดยเฉพาะจีน จะเป็นแรงขับเคลื่อนความต้องการซื้อ (Demand) สําคัญ
สําหรับบริษัทที่ทำธุรกิจสินค้าหรูหรือสินค้าแบรนด์เนมนั้น หลักๆ ได้แก่
- LVMH Moet Hennessy Louis Vuitton หรือ LVMH เป็นบริษัท Global Luxury
Group สัญชาติฝรั่งเศส ดําเนินธุรกิจผ่าน 75 บริษัท เช่น Louis Vuitton, Christian Dior, Givenchy และ Fendi เป็นต้น
- Kering เป็นบริษัท Global Luxury Group สัญชาติฝรั่งเศส เป็นบริษัทแม่ของ Gucci, Saint Laurent และ Puma เป็นต้น
ด้าน อภิวัฒน์ น้าประทานสุข ผู้บริหารกลยุทธ์ด้านการลงทุน ธนาคารทหารไทยธนชาต เปิดเผยว่า การลงทุนในหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมยังน่าสนใจ โดยได้ปัจจัยหนุนจากเรื่องของการเดินหน้าเปิดเมืองเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในส่วนของสหรัฐฯ ยุโรป รวมถึงจีนซึ่งเป็นฐานกำลังซื้อสำคัญ
“ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผลตอบแทนของกองทุนอย่าง T-PREMIUM BRAND อยู่ที่ราว 17% ขณะที่ NAV ของกองทุนก็ใกล้จะทำจุดสูงสุดใหม่ได้แล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าหุ้นในกลุ่มนี้ยังมีโอกาสให้เติบโตได้ต่อ”
อ้างอิง: