×

ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมยังพุ่ง ‘สวนกระแสเศรษฐกิจ’

28.10.2022
  • LOADING...
สินค้าแบรนด์เนม

สภาพเศรษฐกิจซบเซาส่งผลกระทบกับผู้คนไม่เท่ากัน ผู้บริโภคที่ร่ำรวยยังคงใช้จ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยไม่หยุด พิสูจน์ได้จากมูลค่าตลาดของสินค้าหรูหราในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ที่ออกมาดีเกินคาด ทั้งจากการอัดอั้นในการใช้จ่ายจากช่วงก่อนหน้า และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้นักช้อปชาวอเมริกันหลั่งไหลไปใช้จ่ายทั้งในยุโรปและเอเชีย

 

LVMH ทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ถึง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วงปกติ และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 16% โดยส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่ได้ประโยชน์จากเงินยูโรอ่อนค่า จึงหลั่งไหลไปใช้ไลฟ์สไตล์สุดหรูในยุโรปและไล่ล่าสินค้าแบรนด์เนมติดมือกลับบ้าน 


บทความที่เกี่ยวข้อง


ไม่ใช่แค่ในไตรมาสที่ผ่านมา LVMH ยังเผยว่ายอดขายโดยรวมในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เริ่มแข็งแกร่งมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว เนื่องจากอุปสงค์ในท้องถิ่นและการกลับมาเดินทางระหว่างประเทศได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี ชาติอื่นๆ ในเอเชียรวมทั้งจีนยังมีระดับการเติบโตลดลง แม้ว่าจะดีขึ้นบ้างในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากเริ่มผ่อนปรนความเข้มงวดมาตรการป้องกันโควิดบ้างแล้ว 

 

หันมาดูแบรนด์อื่นๆ กันบ้าง ทั้ง Hermès เจ้าของกระเป๋ายอดนิยมอย่าง Birkin, Kering เจ้าของแบรนด์ Gucci, บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องสำอาง L’Oréal และบริษัทเครื่องดื่มพรีเมียมของ Pernod Ricard ต่างก็ได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์เช่นเดียวกัน โดย Hermès และ Pernod Ricard กำลังจะปรับราคาขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น หลังจากที่ทำยอดขายได้เหนือความคาดหมายในไตรมาสเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งก่อนหน้านี้ Pernod Ricard ขึ้นราคาประมาณ 7% ทั่วโลกตลอดทั้งไตรมาส ส่วน Hermès มีแผนจะขึ้นราคาในปีหน้า 5-10%

 

สำหรับมูลค่าของตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยจะยังร้อนแรงไปถึงเมื่อไร เหล่านักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Chanel, Hermès, Louis Vuitton และ Dior จะช่วยดันตลาดไปได้ถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงในปีหน้า ประมาณการไว้ว่าการเติบโตในปีนี้จะอยู่ที่ 13% ส่วนในปีหน้าอยู่ที่ 7%

 

ในขณะที่ตลาดหลักของสินค้าหรูหรากำลังพุ่งฉิว หันมาดูตลาดรีเซลกันบ้าง โดย Clair Report รายงานว่า ในปี 2022 กระเป๋า Hermès ยังคงครองอันดับต้นๆ ของสินค้าที่ยังคงมูลค่าในตลาดรองโดยเฉลี่ยถึง 103% ตามมาด้วย Louis Vuitton ที่ 92% เพิ่มขึ้น 12% จากปีที่แล้ว ในขณะที่ Chanel รักษามูลค่าเฉลี่ยจาก 75% เป็น 87% เมื่อเทียบกับปี 2021 แต่กระเป๋าที่มาแรงที่สุดต้องยกให้กับ Telfar แบรนด์ขวัญใจ Gen Z ราคาเข้าถึงได้ อยู่ที่ 150-360 ดอลลาร์ หรือประมาณ 5,700-14,000 บาท ที่สามารถรักษามูลค่าในตลาดรองได้ถึง 145% ของราคาขายปลีก

 

ทั้งนี้ Clair Report 2022 เป็นรายงานการวิจัยสินค้าหรูหราในตลาดรีเซล จัดทำโดย Rebag เว็บไซต์ขายกระเป๋าแบรนด์เนมมือสองชื่อดังที่รวบรวมข้อมูลจากดัชนีประเมินราคาสินค้าหรูหราด้วยการใช้ปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาขายปลีก ความต้องการ และการวิจัยต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ Rebag โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 – กรกฎาคม 2022

 

กระเป๋าแบรนด์เนมที่รักษามูลค่าได้มากที่สุดในปี 2022 โดย Clair Report

 

สินค้าแบรนด์เนม

 

Telfar รักษามูลค่าในตลาดมือสองได้ 145%

แบรนด์ขวัญใจ Gen Z ที่แจ้งเกิดจากการเป็นกระเป๋าคู่ใจของเหล่าเซเลบริตี้ชื่อดังฝั่งอเมริกา รวมทั้งราคาเข้าถึงได้ ทำให้รักษามูลค่าได้ถึง 145% จากราคาขายปลีก

 

สินค้าแบรนด์เนม

 

Hermès รักษามูลค่าในตลาดมือสองได้ 103%

กระเป๋าแบรนด์เนมที่เหมือนสินทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยเฉพาะ Hermès Birkin และ Hermès Kelly โดยเมื่อนำค่าเฉลี่ยของกระเป๋าทุกรุ่นของแบรนด์มารวมกันก็สามารถรักษามูลค่าเอาไว้ได้ถึง 103% ทีเดียว

 

สินค้าแบรนด์เนม

 

Louis Vuitton รักษามูลค่าในตลาดมือสองได้ 92%

แบรนด์สุดคลาสสิกที่ไปได้ดีทั้งในตลาดหลักและตลาดมือสอง โดย Louis Vuitton รักษามูลค่าได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 12% เป็น 92% ในปีนี้

 

สินค้าแบรนด์เนม

 

Chanel รักษามูลค่าในตลาดมือสองได้ 87%

หนึ่งในแบรนด์ยอดนิยมของสาวไทย และราคาขยับตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเมื่อเฉลี่ยมูลค่ากระเป๋า Chanel ทุกรุ่นจะรักษาระดับมูลค่าไว้ที่ 87% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 75%

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X