วันนี้ (10 เมษายน) ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้เข้าไปแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ตในหลายประเด็น ได้แก่ แหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ทำโครงการ, การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย, เสถียรภาพการเงินการคลังภาพรวม และระบบการชำระเงิน
สำหรับประเด็นแหล่งที่มาของเงิน โดยในฐานะ ธปท. ต้องให้แน่ใจว่าในวันที่เริ่มดำเนินการจำเป็นจะต้องมีครบถ้วน (Earmark) ตาม พ.ร.บ.เงินตราฯ โดยเฉพาะเงินที่มาจากมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จะต้องผ่านกระบวนการและหลักเกณฑ์ให้ครบถ้วน
ส่วนประเด็นกลุ่มเป้าหมาย ธปท. ได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าควรให้ทำเฉพาะกลุ่ม (Targeted) เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และไม่กระทบกับเสถียรภาพการคลังมากเกินไป
ขณะที่ในด้านเสถียรภาพการเงินการคลังภาพรวม ธปท. อยากเห็นแนวทางปรับลดระดับหนี้สาธารณะอย่างไรในระยะปานกลาง
ส่วนด้านระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นด้านที่ ธปท. ดูแลอยู่ แนะว่าการใช้ระบบ Open Loop ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่มีความซับซ้อน จะต้องทำให้ระบบมีความเสถียร และดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ได้ ป้องกันภัยไซเบอร์ได้
ขณะที่ ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า ธปท. ได้จับตาดูผลกระทบทางฐานะการคลังอยู่แล้ว เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นในประเทศไทย เนื่องจากฐานะการคลังที่มั่นคงถือเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยหากเกิดความระแวงหรือเสียความมั่นใจในด้านนี้ก็อาจจะเกิดปัญหารุนแรงตามมาได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2565
ปิติยังกล่าวว่า แม้ปัจจุบันฐานะทางการคลังของไทยจะยังคงเข้มแข็ง แต่สิ่งที่สำคัญคือแนวโน้มข้างหน้า ทั้งด้านการใช้จ่าย การเก็บรายได้ และโครงสร้างทางภาษี