ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2563 ว่า ในที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ซึ่งเป็นนโยบายการเงินระดับผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ กนง. มีมุมมองว่า เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวและใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับเข้าสู่ภาวะก่อนมีโควิด-19 ด้านอุปสงค์ในประเทศหดตัว ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงและใช้เวลาฟื้นตัวนาน
ขณะเดียวกันมองว่าการส่งออกเริ่มฟื้นตัวแต่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การส่งออกบริการ จากปัจจัยนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมองว่าขานักท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้นหลงจากภาครัฐมีมาตรการเพิ่มเติมด้านการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม กนง. มีมุมมองว่า เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ในประเทศที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกที่สอง
ขณะที่มุมเสถียรภาพทางการเงินยังเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มติดลบในปี 2563 แต่คาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเห็นสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งใช้ทดแทนการออกตราสารหนี้ ส่วนสินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังชะลอลง กนง. เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง จึงต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น
ด้านค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน โดยช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทาง กนง. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเห็นว่าหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และจะประเมินความจำเป็นในการออกมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม กนง. มองว่าสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งทำคือ การสนับสนุนการจ้างงาน
ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง รวมถึงนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมที่จะสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การทำธุรกิจ การพัฒนาทักษะแรงงาน
ในระยะต่อไป กนง. จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจในไทยและต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดย กนง. พร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า