×

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเผย เงินบาทผันผวนกว่าภูมิภาคจากหลายปัจจัยรุมเร้า แนะธุรกิจใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

16.08.2023
  • LOADING...
เงินบาทผันผวน

ผู้ว่าฯ ธปท. ชี้หลายปัจจัยรุมกดดันเงินบาทผันผวนสูงกว่าภูมิภาค ทั้งนโยบาย Fed, เศรษฐกิจจีน, ธุรกรรมทองคำ และการเมืองในประเทศ เตือนผู้ประกอบการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

 

ในงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ หัวข้อ ‘ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทยและภาคใต้’ ในวันนี้ (16 สิงหาคม) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พูดถึงสถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินบาท โดยระบุว่า ค่าเงินบาทในปัจจุบันมีความผันผวนมากกว่าในอดีต นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทมีค่าความผันผวนอยู่ที่ 9% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสกุลเงินอื่นในภูมิภาคอาเซียน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสกุลเงินเยนและวอนของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

 

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท คือเงินสกุลดอลลาร์ที่เปลี่ยนแปลงผันผวนสูงไปตามท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งปัจจัยนี้ถือเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องเผชิญ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาซ้ำเติมทำให้ผันผวนสูงกว่าสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ได้แก่ 

 

  1. ความสัมพันธ์กับเงินหยวน โดยเงินบาทถือว่ามีความเชื่อมโยงหรือ Correlation กับเงินหยวนสูงที่สุดในภูมิภาค เพราะตลาดมองว่าเศรษฐกิจไทยกับจีนเชื่อมโยงกันผ่านการส่งออกและท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง ทำให้เวลามีข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนเงินบาทก็จะได้รับอิทธิพลตามเงินหยวนไปด้วย 

 

“ภาวะเศรษฐกิจจีนในตอนนี้ยังคาดการณ์ยาก Sentiment ไม่ดี เพราะตลาดคาดหวังไว้สูง แต่พอเปิดประเทศแล้วฟื้นจริงได้ช้ากว่าคาดก็ผิดหวัง แถมจีนยังมีปัจจัยอื่นมาซ้ำเติม เช่น ภาคอสังหาที่เป็นตัวถ่วง ซึ่งผมมองเป็นสัจธรรม หนี้อะไรที่โตเร็วมากๆ มักจะมีผลข้างเคียงตามมา นำไปสู่ความเปราะบาง หลายคนกังวลว่าจีนจะเกิดภาวะเงินฝืดเหมือนญี่ปุ่น แต่เท่าที่ดูยังไม่ได้ซึมกว้างแบบนั้น” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

 

  1. ธุรกรรมซื้อขายทองคำ โดยปัจจุบันเงินบาทถือเป็นสกุลเงินที่มีความสัมพันธ์กับทองคำมากที่สุดในภูมิภาค เพราะคนไทยชอบซื้อขายทองคำมากกว่าประเทศอื่น ช่วงไหนที่ราคาทองคำสูงคนไทยจำนวนมากจะนำทองคำไปขาย ช่วงที่ราคาลงคนก็จะทยอยซื้อเก็บ ซึ่งส่งผลต่อการนำเข้าทองคำที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์จนส่งผลต่อเงินบาทอีกทอดหนึ่ง

 

  1. ปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นภาวะที่นักลงทุนไม่ชอบ ทำให้เกิดกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งในช่วงหลังปัจจัยนี้เริ่มมีผลกับค่าเงินมากขึ้น

 

สำหรับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน ธปท. ได้มีการผลักดันระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) ใหม่มาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย โดยผ่อนคลายให้เกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินมีความสมดุลมากขึ้นทั้งด้านเงินขาเข้าและขาออก เพิ่มความสะดวกในการลงทุนและทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมของภาคเอกชน 

 

“เราได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เรื่องเงินทุนไหลเข้าไหลออกให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่เราปล่อยให้เงินไหลเข้าง่ายแต่ออกยาก ซึ่งเป็นมรดกทางนโยบายมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตปี 40 ที่ประเทศขาดเงินดอลลาร์ มาตอนนี้เราได้พยายามปรับคนไทยเอาเงินออกไปลงทุนข้างนอกได้ง่ายขึ้น มีความสมดุลมากขึ้น” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ธปท. ยังให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการส่งออกนำเข้าที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของค่าเงิน ให้บริหารความเสี่ยงผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น 

 

  1. การทำ Hedging ที่แม้จะมีต้นทุนแต่มองว่ามีความจำเป็น โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้เข้าไปช่วยเพิ่มความสะดวกและลดภาระเอกสารให้ พร้อมขยายข้อจำกัดจากเดิมที่กำหนดระยะเวลาไว้เพียง 1 ปีให้ยาวขึ้น 

 

  1. การใช้บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อถือสกุลเงินต่างประเทศโดยไม่ต้องแลกกลับมาเป็นเงินบาทเพื่อลดความผันผวน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ที่มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศแล้วต้องนำเข้าวัตถุดิบลดความเสี่ยงจากค่าเงินได้

 

  1. ส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น โดยปัจจุบันการค้าไทย 80% ยังอยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ เช่น ในกรณีการค้ากับจีนแม้จะมีมูลค่าสูง แต่ 95% ยังอยู่ในรูปดอลลาร์ ขณะที่การค้ากับมาเลเซีย 70% ก็ยังเป็นดอลลาร์ หากสามารถใช้สกุลเงินท้องถิ่นระหว่างกันได้โดยตรงจะช่วยบริหารความเสี่ยงได้  

 

“ธปท. มีความร่วมมือกับธนาคารกลางในหลายประเทศเพื่อส่งเสริมเรื่องนี้ โดยปัจจุบัน 4 สกุลเงินหลักที่เราพยายามส่งเสริมให้มีการซื้อขายโดยตรงกับเงินบาทคือ หยวนของจีน เยนของญี่ปุ่น ริงกิตของมาเลเซีย และรูเปียห์ของอินโดนีเซีย” เศรษฐพุฒิกล่าว 

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังพยายามส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยทำธุรกรรมชำระเงินผ่านระบบ QR Code ที่ ธปท. ได้วางโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับร่วมกับธนาคารกลางในหลายประเทศ เช่น กรณีนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เข้ามา 2 ล้านคน พบว่ายังมีการชำระเงินผ่านระบบดังกล่าวแค่ 20,000 รายการ หรือ 1% ทำให้ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

 

“โลกในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูงมากกว่าเดิม ทั้งจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซัพพลายเชน โลกร้อน ในมุมของผู้ประกอบการการคุมต้นทุนให้ต่ำที่สุดแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ธุรกิจต้องสร้างกันชนหรือบัฟเฟอร์ให้เยอะ ดูแลงบดุลให้ดี Resilience เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Krungthai GLOBAL MARKETS ระบุว่า ค่าเงินบาทในวันนี้เปิดที่ระดับ 35.41 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงและมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนสูง (แกว่งตัวในช่วง 35.31-35.46 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนุนโดยถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ Fed ที่ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดผันผวน

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท ธนาคารกรุงไทยประเมินว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อได้บ้าง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นจากความไม่มั่นใจของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ส่วนราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับสำคัญ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นบางส่วนในตลาด โดยเฉพาะบรรดาผู้ส่งออก ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่แรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติก็มีแนวโน้มชะลอลง หากการจัดตั้งรัฐบาลของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น 

 

โดยธนาคารกรุงไทยประเมินโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านแรก และโซน 35.75 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านถัดไป นอกจากนี้ยังคงมองว่าเงินบาทอาจจบรอบการอ่อนค่าแถว 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising