×

ธปท. ผนึกแบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ-นอนแบงก์ เดินหน้าแก้หนี้ยั่งยืน หวังลดหนี้ครัวเรือนไทยลงมาอยู่ในระดับไม่เกิน 80% ต่อ GDP ภายใน 5 ปี

26.07.2023
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผนึกสถาบันการเงินภาครัฐและเอกชนผลักดันการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เล็งหารือสหกรณ์และธุรกิจเช่าซื้อเพิ่มความครอบคลุม หวังช่วยลดระดับหนี้ครัวเรือนไทยให้ลดลงมาอยู่ในระดับไม่เกิน 80% ต่อ GDP ตามมาตรฐานที่ Bank for International Settlements (BIS) กำหนดไว้ภายใน 5 ปี

 

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่การก่อหนี้ กำลังเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และเมื่อหนี้มีปัญหา ไปกระทั่งการขายหนี้หรือฟ้องร้องดำเนินคดี

 

โดยมาตรการที่จะเริ่มบังคับใช้ก่อนคือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 และ 1 เมษายน 2567 ตามลำดับ 

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้ผู้ให้บริการสถาบันการเงินที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเข้าทดสอบในโครงการ RBP ได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า และขณะที่มาตรการ DSR คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2568 แต่จะมีการประเมินสภาพทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

“ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแล ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จึงเหมาะสมที่จะมีมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างตรงจุดและยั่งยืน อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยความตั้งใจจริงของทุกหน่วยงานในการร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ ให้เห็นผล ซึ่งในวันนี้ ธปท. ได้รับความร่วมมือจากทั้งแบงก์พาณิชย์ แบงก์รัฐ และชมรมสินเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับแล้ว ในระยะต่อไปเราจะเข้าไปหารือเพิ่มเติมกับกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับ เช่น สหกรณ์และธุรกิจเช่าซื้อ เพื่อให้การแก้ปัญหามีความครอบคลุมมากที่สุด” รณดลกล่าว

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย และได้บรรจุในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมธนาคารไทยตั้งแต่ปี 2565 และได้ให้ความร่วมมือกับ ธปท. ในการผลักดันมาตรการต่างๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 มีลูกหนี้ที่ยังอยู่ภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์จำนวน 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.88 ล้านล้านบาท จากยอดหนี้ที่เคยสูงสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 6.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 4.2 ล้านล้านบาท

 

ผยงระบุว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตามแนว Responsible Lending โดยการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยด้านความยั่งยืน (Sustainability) ตามหลักการ 5 ข้อ ได้แก่

 

  1. การมีความรู้ความเข้าใจในการกู้ยืม (Healthy Borrowing) ให้ข้อมูลเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมลูกหนี้ให้มีวินัยทางการเงิน และใช้สินเชื่อที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์

 

  1. การแข่งขันแบบเสรีไม่ผูกขาด (Open Competition) ลูกหนี้ใช้บริการสินเชื่อและเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจ 

 

  1. ความโปร่งใสและเท่าเทียมระหว่างผู้ให้สินเชื่อ (Level Playing) ทุกกลุ่มเจ้าหนี้ ทั้งธนาคาร Non-Bank และสหกรณ์อยู่บนกฎกติกาที่เท่าเทียมกัน 

 

  1. ความยุติธรรม (Fairness) อัตราดอกเบี้ยต้องสะท้อนความเสี่ยงที่เป็นจริง ลดภาระลูกหนี้ดีที่ต้องแบกภาระลูกหนี้ที่ไม่ดี 

 

  1. ความครอบคลุมและเข้าถึง (Inclusion) สามารถนำข้อมูลทางเลือกมาส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ทุกฝ่ายมองเห็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้กำกับ และรัฐ ไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบจากมาตรการที่นำมาใช้ และทุกภาคส่วนร่วมแชร์ความเสี่ยงอย่างเป็นธรรมในการแก้ปัญหาหนี้ 

 

“หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ธนาคารพาณิชย์เพียงกลุ่มเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีส่วนที่เป็นของแบงก์พาณิชย์อยู่เพียง 36% จากระดับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่ 90.6% ต่อ GDP สำหรับกลุ่มลูกหนี้เรื้อรังที่เข้าข่ายจะได้รับการช่วยเหลือด้วยการลดดอกเบี้ย ในภาพรวมธนาคารพาณิชย์มีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ไม่มากนัก ทำให้ผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารก็จะมีไม่มากเช่นกัน” ผยงกล่าว

 

ด้านวิทัย รัตนากร ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาสมาคมสถาบันการเงินของรัฐและสถาบันการเงินสมาชิกได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่ ทั้งการแก้หนี้เดิมและเสริมสภาพคล่องผ่านมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิดของธนาคารออมสิน มาตรการขยายระยะเวลาชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของหลายๆ สถาบันการเงินของรัฐ ตลอดจนการให้ความรู้ เสริมทักษะทั้งทางการเงินและอาชีพ เพื่อให้ลูกค้ารายย่อยดังกล่าวผ่านช่วงวิกฤตไปได้ 

 

ดังนั้นสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจึงพร้อมสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในครั้งนี้ โดยเฉพาะมาตรการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปลงมาเหลือเพียงไม่เกิน 15% ต่อปี จะช่วยให้ลูกหนี้จ่ายเงินต้นได้มากขึ้น และมีโอกาสสูงขึ้นในการปิดจบหนี้ได้โดยเร็ว ซึ่งเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารออมสินในการสร้างแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำและเป็นธรรมที่ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงเวลานี้

 

“เราเชื่อว่ามาตรการแก้หนี้เรื้อรังจะช่วยลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหาไม่สามารถปิดจบหนี้ได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ภาพรวมของมาตรการแก้หนี้เรือนของ ธปท. ก็น่าจะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงมาต่ำกว่าระดับ 80% ต่อ GDP ได้ภายใน 5 ปีตามเป้าหมาย” วิทัยกล่าว

 

อธิป ศิลป์พจีการ รองประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและเปราะบางกว่าลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เช่น พนักงานบริษัทหรือพนักงานในโรงงานที่มีเงินเดือนประจำค่อนข้างต่ำ หรือพ่อค้าแม่ค้าขายของที่มีหลักฐานทางการเงินจำกัดและต้องใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ โดยในช่วงที่ผ่านมา Non-Bank ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการ ธปท. อย่างเต็มที่ 

 

ด้วยลักษณะเฉพาะของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่มีความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนค่อนข้างจำกัด ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียนเป็นสินเชื่อที่เหมาะกับความต้องการ แต่ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวของการผ่อนชำระขั้นต่ำที่จำกัด ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นหนี้เรื้อรังค่อนข้างสูง ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคลและบริษัทสมาชิกเห็นถึงความจำเป็น และพร้อมนำเสนอทางเลือกเพื่อช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีความตั้งใจสามารถปิดจบหนี้ โดยเริ่มจากลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และสนับสนุนให้เกิดการเสริมความรู้ พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดีควบคู่กันไป

 

“ขณะนี้สมาชิกของชมรมทั้ง 34 รายอยู่ระหว่างประเมินว่ามีลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด โดยชมรมจะสื่อสารให้สมาชิกทุกรายปฏิบัติตามแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่ ธปท. ได้วางเอาไว้” อธิปกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising