×

ธปท. เตรียมออกมาตรฐานสำหรับ ‘แบงก์-ธุรกิจบริการชำระเงิน’ ร่วมรับผิดชอบความเสียหายให้แก่ลูกค้าเหยื่อมิจฉาชีพ

28.04.2025
  • LOADING...
ธปท.

ธปท. เปิดเผยว่า ภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2568 จะออกประกาศเพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงิน ย้ำหากละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายแก่ลูกค้าที่เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

 

วันนี้ (28 เมษายน) รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 (พระราชกำหนดฯ) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2568 ที่ผ่านมานั้น ธปท. สนับสนุนหลักการของพระราชกำหนดฯ และได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการเสนอความเห็นและปรับปรุงเนื้อหาในพระราชกำหนดฯ เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

หนึ่งในประเด็นสำคัญของพระราชกำหนดฯ คือ การกำหนดให้สถาบันการเงิน (สง.) ผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงิน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ยกระดับการดูแลลูกค้า และมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายหากละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดจนเป็นเหตุให้ลูกค้าเกิดความเสียหาย

 

ทั้งนี้ ภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2568 ธปท. จะออกประกาศเพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับ สง. (ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) และผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินที่ได้รับใบอนุญาตประเภทการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหาก สง. และผู้ประกอบธุรกิจฯ ข้างต้นละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายแก่ลูกค้า สรุปสาระสำคัญของมาตรฐานที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

 

  1. การป้องกันการสวมรอยเปิดบัญชีและการสวมรอยใช้งาน mobile banking สง. ต้องดำเนินการดังนี้
  1. มีกระบวนการรู้จักลูกค้า (KYC: Know Your Customer) ที่เข้มข้น
  2. ไม่แนบลิงก์ที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายผ่าน SMS และอีเมล
  3. ลูกค้าสามารถใช้บริการ mobile banking ของแต่ละ สง. ได้เพียง 1 ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน และใช้ได้กับ 1 อุปกรณ์เคลื่อนที่เท่านั้น
  4. มีกระบวนการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงผ่าน mobile banking โดยใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้าและการตรวจจับการปลอมแปลงชีวมิติ สำหรับการทำธุรกรรมโอนเงินที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป หรือการทำธุรกรรมโอนเงินมูลค่ารวมกันครบทุก 200,000 บาทใน 1 วัน หรือการปรับเพิ่มวงเงินการทำธุรกรรมโอนเงินต่อวัน
  5. ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงแอปพลิเคชันของ สง. ทุกครั้งที่ผู้ใช้บริการเข้าใช้งาน และไม่อนุญาตให้ใช้งานแอปพลิเคชันที่ถูกเปลี่ยนแปลง
  6. ไม่อนุญาตให้แอปพลิเคชันของ สง. ทำงานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ในขณะที่มีแอปพลิเคชันอื่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น แอปพลิเคชันที่ควบคุมอุปกรณ์เคลื่อนที่จากระยะไกลแอปพลิเคชันที่ปิดบังหรือขโมยข้อมูลบนหน้าจอ

 

  1. การจำกัดความเสียหายและจัดการบัญชีม้า สง. ต้องดำเนินการดังนี้
  1. แจ้งเตือนการทำธุรกรรมทุกครั้ง เมื่อมีการโอนเงินออกจากบัญชี ผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่ง เช่น Mobile Banking, LINE, SMS, อีเมล โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย
  2. ระงับการทำธุรกรรมและนำส่งข้อมูลตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) กำหนด ภายใต้อำนาจหน้าที่ที่พระราชกำหนดฯ กำหนดไว้
  3. เมื่อได้รับรายชื่อบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีม้าดำ จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือรายชื่อบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีม้าเทาเข้ม หรือเทาอ่อน จากระบบ Central Fraud Registry (CFR) ให้ดำเนินการสอดคล้องกับระดับความเสี่ยง เช่น ระงับเงินเข้าและออกทุกบัญชีของบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีม้า รวมทั้งปฏิเสธการเปิดบัญชีใหม่กับบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีม้า

 

ทั้งนี้ ม้าดำคือ บัญชีของบุคคลที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามฐานข้อมูลสำนักงาน ปปง. ม้าเทาเข้มคือ บัญชีของบุคคลที่เกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินทุจริตและถูกแจ้งความ ม้าเทาอ่อนคือ บัญชีของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินทุจริต

 

  1. กระบวนการรับแจ้งเหตุภัยทุจริตดิจิทัลที่รวดเร็ว สง. ต้องจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (hotline) ทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้เสียหายสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของ สง. ทั้งในและนอกเวลาทำการ

 

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะต้องรับผิดชอบในส่วนของตนเอง แม้พระราชกำหนดฯ จะระบุให้ผู้ให้บริการต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบหากไม่ทำตามมาตรฐานที่ผู้กำกับดูแลกำหนด  ธปท. ขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการใช้บริการทางการเงิน เช่น ไม่กดลิงก์ที่ไม่รู้จัก ระวังการรับสายแอบอ้าง และตรวจสอบการทำธุรกรรมให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising