‘แบงก์ชาติ’ ร่อนจดหมายแจงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงแนวโน้มเงินเฟ้อเฉลี่ยช่วง 12 เดือนข้างหน้า ที่ส่อเค้าหลุดกรอบบนของเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 3% ชี้เป็นผลจากปัญหาอุปทานดันราคาพลังงานโลกพุ่งแรง มั่นใจเริ่มกลับเข้าสู่กรอบช่วงต้นปี 2566 พร้อมย้ำเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเต็มที่ ส่วนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากปัจจัยอุปทานระยะสั้นที่ผันผวน
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ทำหนังสือเปิดผนึกชี้แจงการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน เพื่อส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โดยภายในจดหมายดังกล่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ประชุม กนง. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 4.1% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3%
ดังนั้น กนง. จึงขอชี้แจงถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน รวมทั้งระยะเวลาที่คาดว่าจะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้เงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงกว่ากรอบเป้าหมาย กนง. ประเมินว่า เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะมีแนวโน้มสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย จากแรงกดดันด้านอุปทานเป็นสำคัญ ในขณะที่แรงกดดันจากอุปสงค์ยังอยู่ระดับต่ำ
โดยแรงกดดันเงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจาก
- ปัจจัยด้านอุปทานจากต่างประเทศ สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตาม ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าจะเร่งตัวสูงที่ 16.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 1.6% มาก
- ปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ จากโรคระบาดในสุกร และการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังราคาอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ราคาอาหารสดหมวดอื่นๆ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นบ้างตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มอยู่ที่ 3.4% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.6% มากเช่นกัน
ส่วนแรงกดดันด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังไม่เข้มแข็งนัก จากเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัวและยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าทำได้เพียงบางส่วน แม้ต้นทุนจะปรับสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ตามราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า เงินเฟ้อพื้นฐานในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2% จากราคาอาหารสำเร็จรูปที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นหลัก
สำหรับระยะเวลาที่คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ทาง กนง. ประเมินว่า เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่า 5% ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงหลังของปี 2565 และกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ สะท้อนผลของฐานที่ต่ำของราคาน้ำมันและมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเทียบปีต่อปีสูงขึ้น แม้ระดับราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากก็ตาม โดยอัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลงในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
นอกจากนี้ ราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามอุปทานน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ และสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่จะบรรเทาลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566
ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจมากกว่าคาด แต่โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 จะสูงกว่ากรอบเป้าหมายมีไม่มาก โดยราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนต้องสูงขึ้นกว่าคาดมาก จึงจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงกว่ากรอบเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางที่สะท้อนจากข้อมูลตลาดการเงินยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาตามการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางประเภท สะท้อนความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2551 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นถึง 5.5% ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับขึ้นสูงสุดถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า 6% แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางปรับเพิ่มขึ้นไม่มากและยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ทั้งนี้ การยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงที่สาธารณชนมองว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่องจนนำไปสู่การปรับเพิ่มราคาอย่างเป็นระลอก (Second round effect) ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณของแรงกดดันลักษณะดังกล่าว
จดหมายดังกล่าวยังระบุด้วยว่า กนง. จะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลก รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ เพื่อมั่นใจว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสมนั้น ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
โดย กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานและรายได้ของภาคธุรกิจและประชาชนให้ขยายตัวได้อย่างเข้มแข็ง สามารถรองรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ ขณะที่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากปัจจัยอุปทานในระยะสั้นที่ผันผวน ดังนั้นนโยบายการเงินที่ต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป อาจจำเป็นต้องมองผ่านความผันผวนในระยะสั้น และให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งรักษาแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย
ระยะต่อไป กนง. เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะมาตรการการคลังที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด เพื่อสร้างรายได้และบรรเทาภาระค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง ขณะที่นโยบายการเงินยังผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนภาวะการเงินโดยรวม
นอกจากนี้ มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่มีส่วนช่วยกระจายสภาพคล่องและช่วยลดภาระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ระยะยาว จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงิน และไม่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ กนง. จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงิน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP