ผู้ว่าแบงก์ชาติคาด GDP ไทยปี 2567 อาจโตต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 4.4% หากรัฐบาลปรับเงื่อนไขแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยใช้เม็ดเงินต่ำกว่า 5.6 แสนล้านบาท เผยเสถียรภาพประเทศยังดี แต่ไม่ควรชะล่าใจ แนะรัฐทำลดการขาดดุล สร้าง ‘พื้นที่ว่างทางการคลัง’ รองรับวิกฤตในอนาคต
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีโอกาสจะขยายตัวได้ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดของ ธปท. ที่ 4.4% หากโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ของรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ไม่ได้ใช้เม็ดเงินกระตุ้นสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี การประเมินตัวเลขใหม่ในขณะนี้ยังทำได้ยาก เพราะยังต้องรอความชัดเจนของเงื่อนไขต่างๆ
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ธปท. มองว่าจะยังขยายตัวได้ใกล้เคียงประมาณการที่ 2.8% แม้ว่าตัวเลขในไตรมาส 3 อาจเติบโตได้ต่ำกว่าคาดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่อ่อนแรงลง แต่การบริโภคยังขยายตัวได้ดีอยู่ ทำให้ความจำเป็นในการกระตุ้นการบริโภคยังมีไม่มาก
ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเสถียรภาพในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับที่โอเค โดยดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศ และทุนสำรองยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่งบดุลของสถาบันการเงินก็ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ก็มีจุดที่น่ากังวลอยู่ 2 เรื่อง คือระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.7% ต่อ GDP และระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ที่ระดับ 61.7% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
“ในภาพรวมเสถียรภาพเรายังดี แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่สะท้อนความกังวลของตลาด เช่น ตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกสุทธิ 8.4 พันล้านดอลลาร์นับจากต้นปี สวนทางกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีเงินทุนไหลเข้าเป็นบวก ค่าเงินบาทที่ผันผวนมากถึง 8-9% สูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาครองจากเงินวอนของเกาหลีใต้ และ Credit Default Swap หรือ CDS ของไทยที่วิ่งจากระดับ 50 bps ไปอยู่ที่ 70 bps” เศรษฐพุฒิกล่าว
นอกจากนี้ ผู้ว่า ธปท. ยังพูดถึงปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจไทยสูง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่กดดันห่วงโซ่อุปทานโลก และล่าสุดคือปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งล้วนเป็น Tail Risk หรือความเสี่ยงที่ประเมินผลกระทบได้ยากและอาจมีผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึง
“ถ้าเราเห็นความเสี่ยงข้างหน้าก็ควรเก็บกระสุนไว้บ้าง ฝั่งนโยบายการเงินมีดอกเบี้ยเป็น Policy Space ฝังคลังก็ควรมีกระสุนทางการคลัง” เศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น คำแนะนำที่ IMF มอบให้กับประเทศต่างๆ คือ 1. ต้องให้ความสำคัญกับเสถียรภาพ ดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 2. สร้าง Buffer หรือกันชนด้านการคลัง โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (Fiscal Consolidation) เพื่อสร้างพื้นที่ว่างทางการคลัง (Fiscal Space) เอาไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต 3. ดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และ 4. ปรับโครงสร้างให้เอื้อต่อการเติบโตในระยะยาว ทั้งในด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม