ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับแนวทางดูแลกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) พร้อมเปิดให้ลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ภายใต้เพดานที่ 3% ของเงินกองทุน รวมถึงเปิดให้ทดลองธุรกิจที่มีความเสี่ยงใน Sandbox โดยเตรียมเปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ก่อนออกประกาศหลักเกณฑ์อย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี
รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า จากการที่เทคโนโลยีในภาคการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และให้ความสนใจกับการเพิ่มบทบาทในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง ให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสม ธปท. จึงได้ปรับปรุงเกณฑ์ให้กลุ่มธนาคารมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ และยกระดับการกำกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป โดยพิจารณาทั้งประโยชน์ต่อประชาชนและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
- ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ใช้ประโยชน์จาก FinTech ได้มากขึ้น เนื่องจากเห็นประโยชน์ที่ชัดเจน อีกทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีประสบการณ์การลงทุนในธุรกิจ FinTech มากขึ้น และหน่วยงานกำกับดูแลมีแนวทางดูแลความเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้ว
- ให้บริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้เพดานที่ 3% ของเงินกองทุน เพื่อให้การขยายตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยจำกัดความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อาจกระทบความเชื่อมั่นต่อธนาคารพาณิชย์ และให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์พิจารณาการลงทุนหรือจัดสรรทรัพยากรอย่างรอบคอบ โดยเมื่อมีมาตรฐานการกำกับดูแลที่เป็นสากล หรือมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจนเพียงพอ ก็สามารถปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานการลงทุนที่กำหนดได้เป็นการทั่วไป เช่นเดียวกับเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech
- หากธนาคารพาณิชย์สามารถยกระดับมาตรฐานของกิจการสินทรัพย์ดิจิทัลใดให้เป็นไปตามที่กำหนดได้ เช่น เรื่องธรรมาภิบาล การดูแลความเสี่ยงระบบงาน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ อนุญาตให้ไม่นับเงินลงทุนของกิจการนั้นในเพดานการลงทุน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศ
- ให้ธุรกิจที่ยังมีความเสี่ยงหรือยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล เช่น Mataverse และ DeFi สามารถดำเนินงานในกรอบ Sandbox ได้ในวงจำกัดก่อน เพื่อพิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศ การดูแลความเสี่ยง และผลกระทบต่อระบบในภาพรวม ก่อนการให้บริการในวงกว้างต่อไป
- ให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์จำกัดความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงที่อาจเกิดต่อธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้การดำเนินงานในธุรกิจใหม่ๆ ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไม่กระทบต่อผู้ฝากเงินและระบบการเงิน โดยยังไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้โดยตรง กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีโครงสร้างกรรมการที่ไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงใหม่ๆ และธนาคารพาณิชย์มีระบบงานต่างๆ แยกออกจากธุรกิจที่มีความเสี่ยง
นอกจากนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ในฐานะที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ถูกกำกับดูแลอย่างเข้มข้น ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน และสามารถขยายตลาดสำหรับบริการใหม่ๆ ได้เร็ว จากฐานลูกค้าที่กว้างและหลากหลาย ซึ่งรวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบางด้วยนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ใช้บริการ การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง พิจารณาถึงความรู้ทางการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้าด้วย
โดย ธปท. เชื่อว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าวจะเอื้อให้ธุรกิจในภาคการเงินสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ระบบการเงินได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน เกิดการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และทำให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศมีมาตรฐานการบริการที่เป็นที่ยอมรับ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ดี ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่คาดหวัง รวมทั้งผลการรับฟังความคิดเห็นต่อแนวนโยบาย Financial Landscape
ทั้งนี้ ธปท. จะออกร่างหลักเกณฑ์เพื่อรับฟังความเห็นบน BOT Website ก่อนที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในครึ่งแรกของปี 2565
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP