รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูให้กับลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ภายใต้วงเงิน 2.5 แสนล้านบาทว่า ล่าสุดมีวงเงินที่ได้รับอนุมัติแล้ว 72,391 ล้านบาท คิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 23,687 ราย โดยมีวงเงินช่วยเหลือเฉลี่ยรายละ 3.1 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังพบว่าสินเชื่อกระจายตัวได้ดีทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค โดย 45% กระจายไปยัง SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังพบว่า 67.5% ของธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลืออยู่ในภาคพาณิชย์และบริการ และ 68% เป็นธุรกิจในต่างจังหวัด
“ที่ผ่านมา ธปท. เน้นย้ำกับสถาบันการเงินมาโดยตลอดว่า การพิจารณาศักยภาพของลูกหนี้จะต้องดูตามความเป็นจริง การจะดูว่าลูกหนี้มีศักยภาพหรือไม่อาจจะดูที่งบการเงินปี 2563 และ 2564 อย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งภาพรวมของสินเชื่อฟื้นฟูที่กระจายไปในกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี 45% รวมถึงธุรกิจร้านค้าปลีกและบริการในต่างจังหวัดก็สะท้อนว่าการปล่อยสินเชื่อยังเป็นไปตามเป้าของ ธปท.” รณดลกล่าว
สำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ข้อมูลล่าสุดพบว่า มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนจำนวนทั้งสิ้น 949 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 12 ราย
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าประเด็นการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการจำนองและการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ให้แก่ บสย. หรือสถาบันการเงิน รวมถึงค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินหลักประกันคืนผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินที่มีความชัดเจนขึ้นหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยยังเหลือขั้นตอนเพียงการออกกฎหมายลูก จะทำให้จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะต่อไปของ ธปท. ทั้งเรื่องการปรับลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และบัตรเครดิต รวมถึงการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ปัจจุบันลดจาก 0.46% มาอยู่ที่ 0.23% ชั่วคราว ซึ่งจะครบกำหนดในสิ้นปีนี้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม
“เรื่องลดเพดานดอกเบี้ยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อดีและข้อเสีย เพราะการลดดอกเบี้ยแม้จะทำให้ลูกหนี้บางส่วนได้ประโยชน์ แต่ก็อาจส่งผลให้คนบางส่วนเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบได้เช่นกัน ช่วยเรื่องเงินนำส่งกองทุน FIDF เราคงต้องให้รอบคอบก่อนว่าการลดในครั้งที่ผ่านมามีการส่งผ่านผลประโยชน์ไปสู่ลูกหนี้มากน้อยเพียงใด เราอยากเห็นความชัดเจนเรื่องการส่งผ่านความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินไปสู่ลูกหนี้ก่อน” รณดลกล่าว
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวถึงมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของภาครัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐและชมรมนอนแบงก์ว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนและเฉพาะหน้าในภาวะที่ธุรกิจจำนวนหนึ่งต้องขาดรายได้ไปอย่างฉับพลันเท่านั้น โดย ธปท. ยังมองว่าหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนยังเป็นการเร่งกระจายวัคซีนเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง รวมถึงการใช้กลไกการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละรายเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้
“มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนที่ออกมาเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ลูกหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินขอให้ดำเนินการต่อ ส่วนสาเหตุที่ ธปท. ไม่ให้ความช่วยเหลือแบบอัตโนมัติหรือเป็นวงกว้างแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐ เป็นเพราะเราประเมินว่าขณะนี้มีธุรกิจบางกลุ่มที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว เช่น กลุ่มส่งออก ดังนั้น ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ จึงควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น” สุวรรณีกล่าว