รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจบัตรเครดิต ถึงธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง บริษัทเงินทุนทุกบริษัท และบริษัทที่ประกอบการธุรกิจดังกล่าว
สำหรับประกาศดังกล่าวนั้นประกอบด้วย 3 ฉบับ ดังนี้
1. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมแล้ว
ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าวนั้นได้กำหนดให้ลดอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่จะเรียกเก็บจากลูกหนี้เหลือ 33% ต่อปี จากเดิมที่ 36% ต่อปี
2. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล โดยปรับลดอัตรารวมสูงสุดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอาจเรียกเก็บเหลือ 25% ต่อปี สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ไม่ใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน จากเดิม 28% ต่อปี
ส่วนสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เหลือ 24% ต่อปี จากเดิม 28% ต่อปี
3. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต โดยปรับลดอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอาจเรียกเก็บจากลูกหนี้เหลือ 16% ต่อปี จากเดิม 18% ต่อปี
ทั้งนี้ การลดเพดานดอกเบี้ยดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนั้นถือเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากสถานการณ์โควิด-19 ระยะที่ 2
รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์
เรียบเรียง: สุรเมธี มณีสุโข
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์