วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. มีแผนจะเริ่มทำ Pilot Test เพื่อทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน หรือ Retail CBDC ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาเข้าร่วมทดสอบด้วย ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมทดสอบ
“เบื้องต้นการทดสอบจะใช้งานภายใน ธปท. ก่อน โดยเน้นการทดสอบระบบกลางซึ่งจะมีผู้ให้บริการเข้ามาร่วมทดสอบด้วย เมื่อมั่นใจในเรื่องของระบบและรูปแบบต่างๆ แล้วค่อยขยายออกไปภายนอก ซึ่งก็จะอยู่ในขอบเขตการใช้ที่จำกัด ทั้งพื้นที่หรือจำนวนผู้ใช้งาน ส่วนเรื่องการคัดเลือกผู้ที่จะเข้าร่วมทดสอบนั้นทางเรากำลังพิจารณา ซึ่งต้องดูความเหมาะสม เช่น ความพร้อมของผู้บริการที่มาเข้าร่วมทดสอบ รูปแบบบริการที่เสนอ ซึ่งสามารถครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานต่างๆ” วชิรากล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมองว่าการเปิดใช้ Retail CBDC ในวงกว้างระดับประเทศอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจาก ธปท. ยังต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ การดูแลข้อมูลจะต้องมีธรรมาภิบาล (Data Governance) ความปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้และรูปแบบที่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
นอกจากนี้ ธปท. ได้เปิดเผยผลการศึกษาถึงผลกระทบ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทยและผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชนต่อแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ผ่านรายงาน ‘The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currency in Thailand’ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 เพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC และทดสอบใช้งานจริง (Pilot Test) โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
ในด้านผลกระทบของ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย ผลการศึกษาชี้ว่า การออกแบบและการพัฒนา Retail CBDC ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงินและเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย
โดยจะมีลักษณะสำคัญคือ
- รูปแบบคล้ายเงินสดและไม่จ่ายดอกเบี้ย
- อาศัยตัวกลาง อาทิ สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน
- มีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมากๆ
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางในการรับเงินฝากและให้กู้ยืม รวมถึงการบริหารสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน
โดย ธปท. ประเมินว่าความต้องการใช้ Retail CBDC ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ Retail CBDC จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสดและ E-Money ได้บางส่วนในระยะต่อไป
สำหรับผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชนพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ของ ธปท. และมองว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย เปิดกว้างต่อการเข้าถึงและการแข่งขันในอนาคต นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับแนวทางการออกแบบ Retail CBDC ข้างต้น เพื่อจำกัดผลกระทบเชิงลบต่อภาคการเงินไทย
จากผลการศึกษาและความเห็นที่ได้รับข้างต้น ธปท. จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาและทดสอบการใช้งาน Retail CBDC ดังนี้
- การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อศึกษาการใช้งาน Retail CBDC ในการรับแลกหรือใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงจำกัด ซึ่ง ธปท. คาดว่าจะเริ่มทดสอบในไตรมาส 2 ปี 2565
- การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาต่อยอดการใช้งาน Retail CBDC ในกรณีต่างๆ โดย ธปท. จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาเข้าร่วมทดสอบด้วย ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมทดสอบ
ทั้งนี้ ธปท. จะประเมินผลลัพธ์และความเสี่ยงด้านต่างๆ จากการทดสอบการใช้งานข้างต้น เพื่อให้มั่นใจว่า Retail CBDC จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และประเทศในภาพรวม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต