ธปท. ปรับทิศทางมาตรการด้านการเงินหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยเปิดให้แบงก์ปันผลได้แบบไม่กำหนดเพดาน และจะเริ่มเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อัตราเดิมที่ 0.46% ในปีหน้า พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง หลังพบสัญญาณ NPL สูงขึ้นเล็กน้อยในเดือนมีนาคม
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการทางการเงินรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมถึงมีกลไกให้สถาบันการเงินส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้ครอบคลุมมากขึ้นนั้น
ในวันนี้ (30 มิถุนายน) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แม้การฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ แต่ก็เริ่มส่งผลดีต่อสถานะของลูกหนี้หลายกลุ่ม ขณะที่ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง สะท้อนจากเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง ทำให้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ผ่อนปรนและมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้าง (Broad-based) มีความจำเป็นลดลง และสามารถทยอยปรับเข้าสู่ระดับปกติได้ (Policy Normalization) โดยยังเน้นมาตรการเฉพาะจุด (Targeted) เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง ในการนี้ ธปท. จึงเห็นควรปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล ดังนี้
- ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และฐานะของสถาบันการเงิน
1.1 ยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผล จากเดิมที่จำกัดอัตราการจ่ายไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี เนื่องจากผลการทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายใต้ภาวะวิกฤต (Stress Test) ชี้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า รวมทั้งผู้กำกับดูแลในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ได้ยกเลิกนโยบายจำกัดการจ่ายเงินปันผล เพื่อดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินในช่วงระบาดของโควิดแล้ว
1.2 ปรับอัตราเงินนำส่งจาก FIDF กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป จากที่เคยปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปช่วยเหลือลูกหนี้ในรูปแบบต่างๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด โดยการให้สถาบันการเงินกลับมานำส่งเงินเข้า FIDF ในอัตราเดิมนี้ สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ซึ่งการที่สถาบันการเงินยังมีฐานะเข้มแข็ง ก็จะสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกหนี้ในระยะต่อไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการลดเงินนำส่ง FIDF และยังจะช่วยให้หนี้ของ FIDF ทยอยลดลงตามเป้าหมาย ไม่สร้างภาระต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโดยไม่จำเป็นในระยะยาว
ทั้งนี้ การนำส่งเงินเข้า FIDF ที่อัตรา 0.23% ยังมีผลถึงสิ้นปี 2565 ดังนั้น สถาบันการเงินจะยังต้องให้ความสำคัญต่อการส่งผ่านต้นทุนในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนอย่างต่อเนื่อง
- ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องด้วยมาตรการที่เฉพาะเจาะจง ทั้งการผลักดันผ่านมาตรการที่ยังมีผลอยู่ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหนี้เดิม การเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงมีมาตรการใหม่เพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่ยังเปราะบาง ดังนี้
2.1 มาตรการเดิมที่ยังมีผลอยู่
2.1.1 มาตรการแก้หนี้ระยะยาว ที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 2566
2.1.2 โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถโอนทรัพย์มาชำระหนี้ได้ โดยให้สิทธิซื้อคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566
2.1.3 การเพิ่มสภาพคล่องภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งจะสามารถใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566
2.2 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบาง ดังนี้
2.2.1 คงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 และที่ 8% ในปี 2567 โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 1 ปี ออกไปจนถึงสิ้นปี 2566 จากเกณฑ์ปกติที่กำหนดไว้ 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง
2.2.2 ปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งจะทำการเพิ่มทางเลือกในการผ่อนชำระ เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังในการชำระหนี้สามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น และเตรียมการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถขอรับความช่วยเหลือได้
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การจัดทำ Stress Test ของ ธปท. พบว่า ปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 20% มีอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 165% และมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 192% ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการจ่ายเงินปันผลได้
“การจัดทำ Stress Test ของ ธปท. ได้นำปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเข้ามาอยู่ในแบบจำลองแล้ว เราเชื่อว่าด้วยฐานะที่เข้มแข็งในปัจจุบัน การกลับไปจ่ายเงินนำส่ง FIDF ที่ 0.46% จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน แต่ก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป” สักกะภพกล่าว
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธปท. เริ่มเห็นสัญญาณของ NPL ในกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวลดลงมาโดยตลอดตามมาตรการความช่วยเหลือ ทำให้ ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้เข้าไปพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้ตรงจุด
“ปัจจุบันหนี้เสียของกลุ่มรายย่อยของทั้งระบบอยู่ที่ 2.7-2.8% ขณะที่กลุ่มหนี้ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ หรือ Special Mention (SM) อยู่ที่ 6-7% การออกมาตรการเพิ่มเติมของ ธปท. ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการไหลจาก SM ไปเป็น NPL ซึ่งเราเชื่อว่าด้วยมาตรการต่างๆ ที่เรามี รวมถึงการเปิดให้มีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ร่วมทุน หรือ JV AMC จะทำให้ไม่เกิดภาวะหน้าผาหนี้เสีย หรือ NPL Cliff” สุวรรณีกล่าว
สุวรรณียังกล่าวถึงข้อกังวลที่ว่า การเพิ่มเงินนำส่งเข้า FIDF กลับไปที่อัตรา 0.46% จะทำให้ธนาคารมีการผลักภาระมาให้ผู้บริโภคว่า ปัจจุบัน ธปท. มีการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (Market Conduct) ในด้านต่างๆ เอาไว้อยู่แล้ว เช่น หากธนาคารเข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มหนึ่งแล้วผลักภาระไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง ก็จะต้องชี้แจงเหตุผล ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมต่างก็จะต้องตั้งอยู่บนหลักความเป็นธรรม
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มเงินนำส่งเข้า FIDF กลับไปที่อัตรา 0.46% ในปีหน้าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนเงินฝากของสถาบันการเงินโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าระบบธนาคารพาณิชย์ในปีหน้าจะยังอยู่ในโหมดระมัดระวัง และยังพยายามจะประคองลูกหนี้ให้ยังไปต่อได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังมีสูงและแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวก็ยังมีอยู่
“ผมยังคิดว่าธนาคารคงจะไม่ส่งผ่านต้นทุนตรงนี้ไปยังผู้กู้ แต่ผลกระทบอาจไปอยู่ในฝั่งดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ NIM ของแบงก์น่าจะถูกกระทบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่แบงก์อาจหันไปเติบโตธุรกรรมที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมขึ้นมาชดเชย หากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจดีขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed มีความชัดเจน ค่าธรรมเนียมในส่วนพวก Mutual Funds ก็มีแนวโน้มจะกลับมาเช่นกัน” นริศกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ ธปท. ลดเงินนำส่ง FIDF ลงเหลือ 0.23% อันเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้ช่วงเวลานั้น ธนาคารพาณิชย์ต่างพร้อมใจกันปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาราว 0.40% เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาคธุรกิจลง ดังนั้น การที่ ธปท. กลับมาเก็บเงินนำส่งเข้า FIDF ในอัตราเดิมที่ 0.46% จึงต้องติดตามดูว่า ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่เคยลดลงไปกลับขึ้นมาหรือไม่
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP