×

เปิดความเห็น กนง. เสียงข้างน้อย เสนอลดดอกเบี้ยเพื่อรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า เหตุ ‘การส่งผ่าน’ ต้องใช้เวลา

19.08.2021
  • LOADING...
Bank of Thailand

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 โดยที่ประชุมวันนั้นมีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้ ‘คง’ ดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 0.5% ซึ่งมีกรรมการ 2 เสียง ที่เสนอให้ ‘ลด’ ดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ส่วนอีก 1 เสียง ลาประชุม

 

โดยรายงานฉบับนี้ระบุถึงสาเหตุที่กรรมการ 2 เสียง เสนอให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการดำเนินนโยบายแบบ Pre-Emptive หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การทำนโยบายเพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า 

 

กรรมการทั้งสองเสียงนี้ยังมีความเห็นว่า มาตรการทางการเงินและการคลังที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาอาจยังมีข้อจำกัดและไม่เพียงพอ ในขณะที่นโยบายการเงินต้องใช้เวลาส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจ การลดดอกเบี้ยจึงควรเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรองรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่อาจสูงขึ้นในระยะข้างหน้า แม้อัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือที่ตรงจุดและมีประสิทธิผลน้อยกว่ามาตรการการเงินและการคลังอื่นๆ ก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วกรรมการทั้งหมดมีความเห็นพ้องกันว่า การใช้มาตรการทางการเงินจะสามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดได้ตรงจุดมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

โดยคณะกรรมการเห็นว่า โจทย์สำคัญของการดำเนินนโยบายในปัจจุบันคือ การกระจายสภาพคล่องไปในระบบธนาคารที่อยู่ระดับสูงไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่มีความเสี่ยงด้านเครดิต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงเป็นผลจากการควบคุมการระบาด ในขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย เอื้อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยลูกหนี้ผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้มาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องของผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง เป็นการดำเนินการที่มีประสิทธิผลและตรงจุดมากกว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่มีเป้าเฉพาะเจาะจง ที่แม้จะส่งผลในวงกว้าง แต่ช่วยลดภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบางได้น้อย

 

มติในที่ประชุมครั้งนี้มีข้อสังเกตว่า กรรมการที่เข้าร่วมประชุม 6 คน ประกอบด้วยคนใน ธปท. 3 คน คือ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท., เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. และ ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธปท. และกรรมการที่เป็นคนนอกอีก 3 คน คือ รพี สุจริตกุล, สมชัย จิตสุชน และ สุภัค ศิวะรักษ์

 

ส่วนกรรมการที่ลาประชุมเป็นกรรมการจากคนนอกคือ คณิศ แสงสุพรรณ โดยคณิศนั้นนับได้ว่าเป็นกรรมการใน ‘สายพิราบ’ ที่มักให้น้ำหนักกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงน่าสนใจว่าหากคณิศอยู่ในที่ประชุมวันดังกล่าวด้วย คะแนนเสียงของ กนง. ที่เสนอให้ลดดอกเบี้ยจะมีมากกว่า 2 คนหรือไม่

 

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า คณะกรรมการมีความเห็นว่า ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ทั้ง 

 

  1. การระบาดของโรคโควิดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน รวมทั้งความล่าช้าในการกระจายวัคซีน

 

  1. ฐานะทางการเงินของธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่เปราะบางมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก

 

  1. ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดในโรงงานและการขาดแคลนวัตถุดิบชั่วคราวที่คาดว่าจะคลี่คลายในครึ่งแรกของปี 2565 อาจรุนแรงและยืดเยื้อ จนส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทยมากกว่าที่คาด

 

นอกจากนี้เสถียรภาพระบบการเงินมีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้น โดยการระบาดระลอกล่าสุดได้ซ้ำเติมให้รายได้และฐานะทางการเงินของลูกหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เปราะบางอยู่เดิมแย่ลง ส่งผลให้จำนวนลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ฐานะการเงินที่มั่นคงสามารถรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงในอนาคต จึงทำให้ความเสี่ยงดังกล่าวต่อเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวมยังมีจำกัด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising