เดือนมีนาคม การลงทุนในประเทศยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยมากนัก สะท้อนได้จากภาพการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีการแกว่งตัวแคบๆ เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายก็ยังคงเบาบางท่ามกลางแรงขายอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ โดยเป็นการขายต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต่างก็รอดูผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 เมษายนนี้
ตลาดหุ้นต่างประเทศ ในเดือนมีนาคมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบหลายปี โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่ม AI และจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คงอัตราดอกเบี้ย และคงมุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยเป็น 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งคาดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed จะเริ่มในเดือนมิถุนายน รวมถึงตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของ Fed ที่ 2% มาที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งก็ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เช่นกัน ปัจจัยหลักคือการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ โดยปรับเป็น 0-0.1% และยกเลิกการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) และ BOJ จะดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงที่ระดับ 151.40 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตลาดหุ้นยุโรปทำจุดสูงสุดใหม่เช่นกัน จากความคาดหวังที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะลดดอกเบี้ยในระยะถัดไปหลังเงินเฟ้อของยุโรปลดลงเป็น 2.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ จากเดือนก่อนที่ 2.8% ตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ ปรับปิดทรงตัวที่ 4.62% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวลง -0.05% เป็น 4.20% ราคาทองปรับตัวขึ้น 9.1% จากเดือนก่อน เป็น 2,229.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 4.6% เป็น 87.48 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากภาวะอุปทานตึงตัวในปีนี้ เนื่องจากอุปทานของกลุ่มนอก OPEC ขยายตัวเพียง 4 แสนบาร์เรล และกลุ่ม OPEC+ ขยายเวลาลดกำลังการผลิตออกไป ขณะที่อุปสงค์โต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ภาพการลงทุนในไทย ตลาดหุ้นเดือนมีนาคมปรับตัวขึ้นเพียง 0.5% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี ตลาดหุ้นไทยลดลง 2.7% เป็นผลมาจากแนวโน้มกำไรที่อ่อนแอ และแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี ปรับตัวลง 0.01% เป็น 2.15% และรุ่นอายุ 10 ปี ปรับตัวลง 0.06% เป็น 2.51% ทั้งนี้ นับจากต้นปีมาจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 6.9 หมื่นล้านบาทในตลาดหุ้นไทย และขายสุทธิ 2.9 หมื่นล้านบาทในตลาดตราสารหนี้ ขณะที่ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 1.3% เป็น 36.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่ากว่า 6.5% นับจากต้นปี
สำหรับเดือนเมษายน การลงทุนในต่างประเทศยังคงมีโมเมนตัมที่เป็นบวกอยู่ ทั้งจากความเป็นไปได้ที่ GDP ไตรมาสแรกของสหรัฐฯ มีโอกาสเกิน 2% เป็นแรงส่งให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตลาดหุ้นจีนยังคงทรงตัว ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่ เช่น อินเดียและเวียดนาม ก็ยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ผมมองว่าไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนตลาดตราสารหนี้ยังคงสะท้อนภาพความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้ง หากผลการประชุมในรอบนี้ออกมาลดอัตราดอกเบี้ย การคาดการณ์จำนวนครั้งที่จะลดและอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานอาจเปลี่ยนแปลง โดยผลกระทบในช่วงสั้นคือเงินทุนไหลออกจากทุกสินทรัพย์ และค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้ไม่น่าจะลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ปัจจัยที่จะช่วยเศรษฐกิจในยามนี้ได้ดีที่สุดคือการใช้จ่ายของรัฐบาล หรือการเร่งใช้งบประมาณมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย