หลังจาก เงินบาท พลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ธปท. ยืนยันว่าดูแลค่า เงินบาท อยู่ตลอดและต่อเนื่อง ไม่ให้ผันผวนมากเกินไป พร้อมมองว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือนกรกฎาคมปรับดีขึ้น หลังชะลอลงในเดือนก่อน
วันนี้ (30 สิงหาคม) ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า ธปท. ดูแลเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไป เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจรู้สึกว่าไม่สามารถปรับตัวได้ทัน หลังค่า เงินบาท ต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2567 ตามการปรับคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) เป็นสำคัญ หลังตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ชะลอลงกว่าที่คาด
นอกจากนี้ชญาวดียังกล่าวอีกว่า สกุลเงินในภูมิภาคและเงินบาทก็ได้รับปัจจัยแข็งค่าเพิ่มเติมจากการแข็งค่าของเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด และราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้น
ชญาวดีเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบัน ธปท. สังเกตว่าภาคธุรกิจไทยเก่งขึ้น เข้มแข็งขึ้น และเรียนรู้การใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ออปชัน เพื่อป้องกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น
สรุปภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2567
ชญาวดีกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือนกรกฎาคมปรับดีขึ้น หลังชะลอลงในเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ โดยการส่งออกสินค้า และรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคยังลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและการลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคม
เปิดแนวโน้มระยะต่อไป
ธปท. มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัว แต่มีบางอุตสาหกรรมได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง
โดยในระยะต่อไปต้องติดตาม
- ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ
- การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์