ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2563 ยังหดตัวสูงต่อเนื่องมาจากการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูงขึ้น ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังหดตัว มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุเพราะไทยมีการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะเดียวกันส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจและแรงงานในภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
- มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวที่ 23.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ส่วนการส่งออกไม่รวมการส่งออกทองคำ หดตัว 29% สูงสุดเป็นประวัติการณ์) เป็นผลจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัวสูง ส่วนภัยแล้งยังทำให้การส่งออกน้ำตาลหดตัว มีเพียงการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวในการส่งไปยังตลาดจีน
- การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยตัวเลข PCI หดตัว 12.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวทุกหมวดมาจากกำลังซื้อภาคครัวเรือนอ่อนแอ การจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำ แม้จะดีขึ้นบ้างหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
- การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 12.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน เพราะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในและต่างประเทศอ่อนแอ
- มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวสูงขึ้นมากที่ 34.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน หดตัวสูงทุกหมวดสินค้า ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอ โดยการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมากในเดือนนี้ทำให้ดุลการค้าปรับสูงขึ้น แม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวสูง
ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายจ่ายการลงทุนยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่รายจ่ายประจำหดตัวลง
อย่างไรก็ตาม หากดูด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีความเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลง สำหรับตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้นสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาสมดุลหลังจากที่ขาดดุลในเดือนก่อนจากดุลการค้าที่เกินดุลสูง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิต่อเนื่องจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน แม้นักลงทุนต่างประเทศจะยังขายหลักทรัพย์สุทธิต่อเนื่อง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์