กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย เล็งศึกษาออกมาตรการสู้บาทแข็ง เพิ่มน้ำหนักความเสี่ยงปัจจัยการเมืองและตลาดแรงงาน ชี้เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง เร่งการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานรัฐเพื่อเพิ่มการฟื้นตัวทางเศรฐกิจ
ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ กนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี
โดย กนง. แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ซึ่งช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk on) ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้าลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่และไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในตลาดหุ้น ตราสารหนี้ระยะยาว และระยะสั้น นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า ยังส่งผลให้บาทแข็งค่าขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ธปท. มีการเตรียมทั้งมาตรการในการดูแลระยะสั้นและระยะยาว และอยู่ระหว่างศึกษาเครื่องมืออื่นๆ เพื่อรองรับสถานการณ์เพิ่มเติม โดยจะมีการแถลงข่าวเรื่องค่าเงินบาทอีกครั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ และที่ผ่านมาทาง ธปท. เข้าไปดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาที่เอเชียมากขึ้นจากภาวะ Risk on มีทั้งตลาดหุ้น ตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้น ขณะที่ต้องติดตามว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นอย่างไร เพราะสภาพคล่องการเงินโลกอยู่ในระดับสูง จากการมี QE ที่สูงในหลายประเทศ ดังนั้นเมื่อเซนติเมนต์นักลงทุนหาความเสี่ยงมากขึ้น เลยเป็นจุดที่ต้องระวัง และให้ความสำคัญในการดูแลทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย
อย่างไรก็ตามทาง กนง. ยังเพิ่มน้ำหนักปัจจัยความไม่แน่นอนการเมือง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังต้องติดตามประเด็นตลาดแรงงาน ที่เดือนตุลาคม มีคนว่างงาน 8 แสนคน โดยอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นที่ 2.1% เพราะมีกลุ่มผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานกลับมาหางานทำ
ทั้งนี้ แม้ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดในไตรมาส 3/63 แต่รายได้ครัวเรือนยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระในภาคบริการ เช่น ค่าล่วงเวลา (OT) ที่ลดลง ซึ่งรายได้มีความสัมพันธ์ต่อความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือน
นอกจากนี้ กนง. มองว่า ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง ทั้งจากปัจจัยภายนอก-ภายใน และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า รวมถึงมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆ แม้ว่าจีดีพีไตรมาส 3/63 จะปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด แต่มองว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาราว 2 ปี ก่อนที่จะฟื้นตัวเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่ข่าววัคซีนแม้จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินในทันที แต่ยังใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะกระทบภาคเศรษฐกิจจริง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ในด้านอัตราดอกเบี้ยถือว่าอยู่ในระดับต่ำ แต่ด้านการกระจายของสินเชื่อยังไม่ทั่วถึง เพราะความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น โดยมองว่าโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.25% ต่อปี อาจจะใช้ในกรณีหากเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้ว และเกิดการช็อกแรง ซึ่งจะทำให้ กนง. มีมาตรการในการดูแล และเก็บกระสุนไว้ใช้ให้ตรงจุดได้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์