×

ธปท. จับตาบาทผันผวนกระทบความสามารถแข่งขันธุรกิจไทย คาดครึ่งปีแรกส่งออกเผชิญแรงกดดันจากโลกชะลอตัว ก่อนทยอยฟื้นในครึ่งปีหลัง

28.02.2023
  • LOADING...

แบงก์ชาติเกาะติดค่าเงินผันผวน หวั่นกระทบความสามารถแข่งขันส่งออก-นำเข้า คาดส่งออกเผชิญแรงกดดันโลกชะลอตัวในครึ่งปีแรก เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปลายเดือนมีนาคม

 

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. อยู่ระหว่างติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดหลังจากที่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงสุดในภูมิภาค และพลิกกลับมาอ่อนค่าค่อนข้างเร็วในเดือนกุมภาพันธ์ตามมุมมองที่เปลี่ยนไปของตลาดต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) 

 

“เราพยายามดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไปอยู่แล้ว ตอนนี้มีปัจจัยภายนอกที่ทำให้มุมมองของตลาดปรับเปลี่ยนไปแค่ข้ามเดือน เราจะติดตามไม่ให้มีผลกระทบการนำเข้าและส่งออกมากเกินไป” ชญาวดีกล่าว

 

ชญาวดีกล่าวว่า การส่งออกไทยในเดือนมกราคมยังขยายตัวได้ 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังถือว่าปรับตัวลดลง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่การส่งออกไทยในไตรมาสแรกและไตรมาส 2 จะยังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอยู่ อย่างไรก็ดี ธปท. ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 

 

ชญาวดีกล่าวว่า ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ธปท. จะปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ ซึ่ง ธปท. จะนำทั้งปัจจัยบวกและลบ เช่น เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายด้านสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในเดือนมกราคม รวมถึง GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ที่ออกมาก็ถือว่าต่ำกว่าประมาณการเข้ามาพิจารณา

 

ทั้งนี้ ธปท. ยังเปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ว่า ในภาพรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดจาก 1. หมวดบริการ ตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย 2. หมวดสินค้าคงทน จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และ 3. หมวดสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนปรับลดลงบ้าง

 

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังคงปรับดีขึ้นจากทั้งการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง 

 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียม ตามการกลับมาดำเนินการผลิตหลังจากปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงก่อนหน้า และหมวดอาหารที่ปรับดีขึ้นตามการผลิตน้ำมันปาล์ม เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดวัสดุก่อสร้างปรับลดลงตามการผลิตคอนกรีตและปูนซีเมนต์

 

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยตามจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่ลดลงจากผลของมาตรการตรวจ RT-PCR ก่อนกลับจากประเทศไทย ที่บังคับใช้ชั่วคราวในเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังทางการจีนยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น เช่น มาเลเซียและยุโรป เพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลงตามราคาเนื้อสัตว์ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ แต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นเข้าใกล้ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 

 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่ขาดดุลตามการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising