ธนาคารแห่งประเทศไทยพาสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อศึกษาแนวทางการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรในพื้นที่
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ปัญหาของเกษตรกรไทยที่เรื้อรังมานาน ทั้งวงจรหนี้ที่ไม่สิ้นสุดและผลผลิตต่อไร่ที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งที่สำคัญคือต้องแก้ไขผ่านหลักการ ‘3S’ คือ การอยู่รอดให้ได้ (Survive) จากนั้นต้องปลูกฝังนิสัยความพอเพียง (Sufficient) ให้พออยู่พอกิน เพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable) ถึงเวลาที่ต้องดึงเกษตรกรออกจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการปลูกพืชเพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะพืชที่ไม่สามารถรับประทานในชีวิตประจำวันได้เช่น ข้าวโพด เป็นต้น เกษตรกรควรปรับตัวสู่เกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานให้กับคนไทยมานานแล้ว
วิโรจน์ ศรีจันท์ ประธานสหกรณ์การเกษตรแก้มลิงหนองเลิงเปือย ให้ข้อมูลว่า ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเข้ามาช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน เริ่มจากขุดลอกและถมดิน จากนั้นให้ความรู้ในการพัฒนาดินและการทำการเกษตรแบบผสมผสาน จนเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากเดิมข้าวนาปีผลิตได้ 200 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มเป็น 400 กิโลกรัมต่อไร่ และข้าวนาปรังจากเดิมผลิตได้ 700 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มเป็น 1,200 กิโลกรัมต่อไร่
สิ่งที่น่าสนใจคือ องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ลงพื้นที่โดยส่งเสริมเรื่องการปลูกพืชหลังนา ซึ่งปกติหลังจากช่วงเก็บเกี่ยวข้าว ที่นาจะว่างถึง 4 เดือน จึงเหมาะกับการปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้เสริม โดยเฉพาะการปลูกผักเพื่อจำหน่าย นอกจากนี้มูลนิธิปิดทองหลังพระและองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือ ยังช่วยถ่ายโอนความเสี่ยงเพื่อจูงใจเกษตรกรให้เข้าร่วมโครงการ โดยการประกันรายได้เดือนละ 5 พันบาทในปีแรก หรือปีละ 2 หมื่นบาท จากนั้นถึงถอนเงินช่วยเหลือออกมา ซึ่งปีที่สองของโครงการ (2561) กลับมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ทั้งที่ไม่มีการประกันรายได้ และ 80% ของเกษตรกรจากโครงการปีแรกก็สมัครใจเข้าร่วมต่อด้วย
เรืองศิลป์ ยุบลมาตย์ เกษตรกรดีเด่น ให้ข้อมูลว่า เดิมมีหนี้สินและประสบปัญหาเหมือนกับเกษตรกรคนอื่นๆ จนเมื่อเข้าร่วมโครงการและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จึงสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากพื้นที่ 1 ไร่ 2 งานที่มี จดบันทึกรายรับจ่ายในบัญชีครัวเรือนสม่ำเสมอ จนรายได้จากการปลูกและขายข้าวทะลุ 2 แสนบาทต่อปี ขณะที่รายได้จากการปลูกผักบุ้งและผักชนิดอื่นตามแนวคิดพืชหลังนาก็สร้างรายได้เพิ่มถึง 1.6 แสนบาทต่อปี ตอนนี้ปลดหนี้ได้หมดแล้ว จนกลับมามีเงินออม และลูกๆ ก็กลับบ้านมาช่วยงานและทำเกษตรผสมผสานเช่นเดียวกัน ยืนยันว่าสิ่งที่มีในตอนนี้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว และไม่จำเป็นต้องขยายแปลงเพิ่มอีก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า