รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. กำหนดแนวทางการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 ให้สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานของปี 2563 ภายใต้ 2 เงื่อนไข ได้แก่ 1) ให้จ่ายปันผลได้ไม่เกินอัตราการจ่ายในปี 2562 2) ให้จ่ายปันผลไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิของปี 2563
ทั้งนี้ ธปท. เปิดให้สถาบันการเงินสามารถจ่ายเงินปันผลได้จาก 4 เหตุผล ได้แก่
- เมื่อพิจารณาจากแผนบริหารจัดการเงินกองทุนและผลประเมิน Stress Test ของสถาบันการเงิน ในช่วงปี 2563-2565 พบว่า สถาบันการเงินยังคงมีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอ เพื่อรองรับสถานการณ์เลวร้ายจากการระบาดของโควิด-19
- สถาบันการเงินได้เพิ่มความระมัดระวังด้วยการทยอยตั้งสำรอง และสะสมเงินกองทุนเพิ่มเติมมาโดยตลอด โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ 19.85% ณ ไตรมาส 3/63 และระบบธนาคารพาณิชย์มีอัตราการกันเงินสำรองถึง 1.5 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio อยู่ที่ 150%)
- ช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ไว้รองรับความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า
- การจ่ายปันผลบางส่วนยังสอดคล้องกับแนวทางของผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ประเทศที่ให้จ่ายปันผลบางส่วน อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ ฯลฯ บางประเทศงดจ่ายปันผล เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ ยุโรป
อย่างไรก็ตามทาง ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยแผนการจ่ายเงินปันผลในปี 2564 และ 2565 ยังต้องติดตามสถานการณ์จากความเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยยังไม่อนุญาตให้ซื้อหุ้นคืน
นอกจากนี้นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง มีกันชนรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์