×

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แนะ ไทยควรใส่ใจตัวเลขสะท้อนคุณภาพชีวิตประชาชน ไม่ควรล่าแต่ GDP และเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ

13.09.2024
  • LOADING...
ดร.เศรษฐพุฒิ

ดร.เศรษฐพุฒิ ชี้ ไทยต้องหารูปแบบการเติบโตใหม่ เหตุช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP โตไปไม่ถึงครัวเรือนเท่าที่ควร รายได้ยังกระจุกที่ธุรกิจขนาดใหญ่ และไทยพึ่งเศรษฐกิจโลกไม่ได้แล้ว เห็นได้จากไทยแย่งชิงสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ไทยควรเลิกการล่าตัวเลข GDP และ FDI โดยหันมาให้ความใส่ใจกับตัวเลขอื่นๆ ที่สะท้อนคุณภาพชีวิตของผู้คน เช่น รายได้ ความมั่งคั่ง สาธารณสุข และการศึกษาแทน

 

วันนี้ (13 กันยายน) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand’ ภายในงานครบรอบ 14 ปีของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า โดยระบุว่า ประเทศไทยจะโตแบบเดิมๆ ไม่ได้ ต้องหารูปแบบการเติบโตใหม่ เนื่องจาก 3 ข้อเท็จจริง ดังนี้

 

  1. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของ GDP ไทยยังไปไม่ถึงครัวเรือนเท่าที่ควร กล่าวคือ การเติบโตของ GDP ยังไม่ทำให้ความมั่งคั่งและรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร โดยจะเห็นได้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ยังตามหลัง (Lag) การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

  1. รายได้ยังกระจุกตัวอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจรายใหม่อยู่รอดได้ยากขึ้น หรือมีอัตราการตาย (Exit) มากขึ้น เห็นได้จากจำนวนธุรกิจขนาดใหญ่คิดเป็นเพียง 5% ของธุรกิจทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รายได้ของธุรกิจรายใหญ่ครองสัดส่วนถึง 89% ของรายได้ธุรกิจทั้งประเทศ

 

  1. เศรษฐกิจไทยพึ่งโลกอย่างที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว เนื่องจากบริบทต่างๆ ของโลกที่เปลี่ยนไป โดยเห็นได้จากสัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ (Market Share ของ FDI Net Inflow) ของไทยแทบจะไม่เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยช่วงปี 2544-2548 ที่ 0.57% ของโลก ขยับขึ้นมาเป็น 0.63% ในปี 2565

 

 

ไทยครองสัดส่วนเม็ดเงิน FDI ล้าหลังเพื่อนบ้าน

 

สัดส่วนดังกล่าวสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ที่ครองสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น สัดส่วน FDI Net Inflow ของอินโดนีเซียที่เพิ่มจาก 0.07% ของโลก ในช่วงปี 2544-2548 ขึ้นเป็น 1.39% ในปี 2565

 

“ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าไทยจะทำแบบเดิมไม่ได้ แม้สมัยก่อนไทยมีเสน่ห์ อยู่เฉยๆ การลงทุนก็วิ่งมาหาเรา แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ไทยต้องปรับตัวมากขึ้น เมื่อเราพึ่งต่างชาติไม่ได้เหมือนเดิม ก็หมายความว่าไทยจำเป็นต้องพึ่งความเข้มแข็งภายในให้มากขึ้น” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

 

ไทยไม่ควรล่า GDP-FDI แต่ควรล่าตัวเลขที่สะท้อนคุณภาพชีวิตคน

 

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ ยังแนะว่า เศรษฐกิจไทยไม่ควรโตแบบมุ่งเน้นการล่าตัวเลขการเติบโตของ GDP หรือมุ่งล่าการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เนื่องจากสุดท้ายสิ่งที่ควรใส่ใจคือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ควรต้องพิจารณาว่าเม็ดเงินการลงทุนที่ดึงดูดมาได้จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้แค่ไหน รวมไปถึงควรให้ความใส่ใจกับตัวเลขอื่นๆ ที่สะท้อนคุณภาพชีวิตของผู้คน เช่น รายได้ ความมั่งคั่ง สาธารณสุข และการศึกษา เป็นต้น

 

เศรษฐกิจไทยควรโตแบบเน้นท้องถิ่นมากขึ้น (More Local) และแข่งกับโลกได้

 

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ต่อจากนี้เศรษฐกิจควรโตแบบเน้นท้องถิ่นมากขึ้น (More Local) เนื่องจากประชากรราว 80% ของประเทศอาศัยอยู่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่นเดียวกับธุรกิจจำนวนเกือบ 80% อยู่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล อัตราการเติบโต GDP ของกรุงเทพฯ ต่อหัวประชากรเพียง 0.22%

 

อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นไทยยังมีความท้าทาย 3 ด้าน ทำให้แข่งขันได้ยาก ได้แก่ คนในท้องถิ่นกระจายตัว ไม่ได้กระจุกตัวเหมือนในกรุงเทพฯ ธุรกิจท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก และมีภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังควรมุ่งสร้างความเป็นท้องถิ่นที่สากล (Globally Competitive Localism) เพื่อทำให้ท้องถิ่นไทยแข่งขันได้ เช่น การใช้เอกลักษณ์และจุดเด่นของแต่ละท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์หรือทรัพยากร และต้องใช้แข่งขันได้ ผ่านการทำให้ต้นทุนลดลงแต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น (Value Added)

 

จะทำให้เกิด ‘ท้องถิ่นสากล’ ได้อย่างไร?

  • เชื่อมตลาด เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนลดลง
  • สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น สร้างเอกลักษณ์ในตัวผลิตภัณฑ์ (สินค้าท้องถิ่นที่บ่งบอกแหล่งที่มา หรือ Geographical Indication: GI)
  • ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในลักษณะที่ใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายให้เกิดประโยชน์ Win-Win
  • ทำให้เมืองรองโต (Urbanization)
  • ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้มากขึ้น (Empowerment) เพื่อให้เกิดนโยบายตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ (Tailor-Made Policies)
  • สร้างระบบติดตามพัฒนาการหรือความเจริญของท้องถิ่น
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising