×

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติประเมิน GDP ปีหน้าโตกว่าปีนี้ รับดอกเบี้ยนโยบายไทยต่ำสุดในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ พร้อมปรับอีกหากเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด

25.11.2019
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2562 พร้อมประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีการขยายตัวในระดับต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ สาเหตุสำคัญมาจากการกีดกันทางการค้าในหลายประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ ทำให้อัตราการขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้อยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศต้นทางของห่วงโซ่อุปทานการผลิตอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด และมีการพึ่งพิงการส่งออกในระดับค่อนข้างสูง จึงทำให้เกิดการชะลอตัว ทั้งในแง่การส่งออกและนำเข้า 

 

ส่วนในปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ขยายตัวดีขึ้น โดยระบุว่า มีหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐที่เกิดความล่าช้าจากการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปี 2563 จะมีการลงทุนจากภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ยังมองเห็นความตั้งใจของรัฐบาลในการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนที่มีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การผลิตและการส่งออกในปีหน้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องคือ ภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่แม้จะมีความพยายามในการหาข้อสรุป แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้

 

สำหรับดอกเบี้ยนโยบายที่มีการปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กนง. มีมติ 5:2 ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 1.25% ต่อปี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า การทำนโยบายการเงินของแบงก์ชาติเน้นใช้หลัก Data Dependent ที่จะต้องมีการประเมินสถานการณ์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของสภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ ก็พร้อมจะปรับนโยบายให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจช่วงข้างหน้า ทั้งนี้ ยอมรับว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และเรียกว่าต่ำที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจต่อไปในอนาคต

 

“เราต้องตระหนักว่า นโยบายทุกอย่างมันมีต้นทุน ไม่มีนโยบายอะไรที่ได้มาฟรีๆ เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ฝากเงินก็อาจจะไม่ได้รับการดูแล ฐานการออมของประเทศก็จะอยู่ในระดับต่ำ แล้วก็จะมีพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยที่ไม่คำนึงถึงความเสี่ยง ในขณะเดียวกันการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เรียกว่าต่ำสุดในบรรดาประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียเลยก็ว่าได้ ในระดับ 1.25 แปลว่า ถ้าเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี เราก็จะไม่ค่อยมีความสามารถที่จะลดดอกเบี้ยแรงๆ ได้ เหมือนกับช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกเมื่อปี 2008-2009 ที่ตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราก็อยู่ในระดับที่สูงกว่านี้มาก เพราะฉะนั้นก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าการตัดสินใจใช้นโยบายการเงินในแต่ละช่วงเวลา ทั้งการเข้าไปพยุงเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ กับเรื่องที่อาจจะรักษาขีดความสามารถในการทำนโยบายไว้สำหรับระยะยาว และคำนึงถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย

 

“ย้ำอีกครั้งว่า เราพร้อมใช้เครื่องมือทางด้านนโยบายการเงิน ถ้าเกิดว่าประมาณการเศรษฐกิจ หรือแนวโน้มเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้”  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว

 

นอกจากนี้ วิรไทยังกล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทแข็งที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคเอกชนในขณะนี้ ซึ่งยอมรับว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ ธปท. และ กน. มีความกังวล เพราะปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าในระดับที่เกินกว่าปัจจัยด้านพื้นฐาน ทำให้ต้องมีมาตรการออกมาเพื่อพยุงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง และยังต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่จะมีธุรกรรมเกิดขึ้นมากกว่าปกติเป็นประจำ ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเน้นย้ำว่า จะต้องมีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะหลังจากนี้ความผันผวนของค่าเงินจะทวีความรุนแรงมากขึ้น 

 

“ในช่วงที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า ค่าเงินบาทสามารถผันผวนได้ทั้งสองทิศทาง โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสภาวะตลาดเงิน ตลาดทุนของโลก เกิดเหตุการณ์อะไรก็ตามที่ทำให้คนระมัดระวังมากขึ้น เงินไหลมาใน Emerging Markets น้อยลง ทำให้เกิดการไหลออกของเงินน้อยลง ค่าเงินก็จะอ่อนค่าลงได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน เรื่องสำคัญคือ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ที่ผ่านมาเราก็จะเห็นว่า ผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อค่าเงินเคลื่อนไหวในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ก็จะรีบมาปิดความเสี่ยงพร้อมกัน ก็จะยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับค่าเงินให้เคลื่อนไหวได้แรงขึ้นอีก” วิรไทกล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising