สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการประชุมนักวิเคราะห์ครั้งที่ 2/2564 ว่า การปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. ขณะนี้มีความคืบหน้าและมีแนวโน้มดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ 1 แสนล้านบาท ภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังยอดสินเชื่อฟื้นฟูทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 5 กรกฎาคม มีตัวเลขคำขอสินเชื่อฟื้นฟูและได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว จำนวน 66,898 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 21,929 ราย วงเงินเฉลี่ยที่ได้รับการอนุมัติ 3.1 ล้านบาทต่อราย
ทั้งนี้ พบว่าสินเชื่อกระจายตัวได้ดีทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค โดย 45.1% กระจายไปยัง SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท และ 44.1% กระจายไปยัง SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อเดิม 5-50 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังพบว่า 68% ของธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลืออยู่ในภาคพาณิชย์และบริการ และ 68% เป็นธุรกิจในต่างจังหวัด
“เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูของเราอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท จากวงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาทภายใน 6 เดือน นับจากเริ่มโครงการในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้วยังไม่ถึงครึ่งทางก็มียอดอนุมัติไปแล้ว 6.6 หมื่นล้านบาท จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายได้” สักกะภพกล่าว
สำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ข้อมูล ล่าสุด ณ วันที่ 5 กรกฎาคม พบว่า ยังมีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนจำนวนทั้งสิ้นเพียง 949.95 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 12 ราย
อย่างไรก็ดี สักกะภพกล่าวว่า แม้จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ในขณะนี้ยังดูน้อย แต่ ธปท. ได้รับแจ้งจากสถาบันการเงินว่ามีผู้ที่แสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนไม่น้อย เพียงแต่ส่วนใหญ่ยังรอความชัดเจนเรื่องการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการจำนองและการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ให้แก่ บสย. หรือสถาบันการเงิน รวมถึงค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินหลักประกันคืนผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สิน จึงเชื่อว่าเมื่อมีความชัดเจนแล้วจะมีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นล้านบาท
ด้าน ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ล่าสุดของรัฐบาล เพื่อปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้มีความสอดคล้องกัน โดยยอมรับว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตได้ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการล่าสุดของ ธปท. ที่ 1.8%
“ในประมาณการล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนของ ธปท. เราได้ Price in การระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาเอาไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่สถานการณ์ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยน เช่น ระยะเวลาการระบาดที่อาจยืดเยื้อกว่าเดิม และประสิทธิภาพของวัคซีนในการคุมโรค ทำให้เราอาจต้องประเมินกันใหม่อีกครั้ง แต่คงต้องใช้เวลาศึกษาอีกระยะหนึ่ง” ชญาวดีกล่าว