หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ สนส. 17/2560 เรื่อง รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ เมื่อวานนี้
วันนี้ ธปท. ได้ออกประกาศ เพื่อกำหนดมาตรฐานการดูแลสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญในระบบ (D-SIBs: Domestic Systemically Important Banks) เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลสถาบันการเงินดังกล่าวเป็นพิเศษ
สถาบันการเงินที่ติดลิสต์มีนัยต่อความเสี่ยงของระบบ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่าธปท. มุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว การกำกับดูแลให้สถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIBs: Domestic Systemically Important Banks) มีความสามารถรองรับความเสียหายจากการดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น จะส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพ และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยเงินฝากของประชาชนไม่ถูกกระทบและจะยิ่งมั่นคงมากขึ้น เพราะเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยยกระดับความเข้มแข็งของสถาบันการเงินโดยรวม
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การกำหนดธนาคาร D-SIBs พิจารณาจากปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่
1. ขนาดของสถาบันการเงิน (Size)
2. ความเชื่อมโยงในการทำธุรกรรมระหว่างกัน (Interconnectedness)
3. การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่สำคัญหรือการเป็นผู้ให้บริการหลักในโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน (Financial institution infrastructure)
4. ความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือกระบวนการดำเนินธุรกิจ (Complexity) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่ผู้กำกับดูแลในต่างประเทศใช้
อย่างไรก็ดี ทาง ธปท. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้มีความมั่นคง แข็งแรง และไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด โดยมีระดับเงินกองทุนที่สูงอยู่แล้ว เพียงแต่ออกประกาศตามมาตรฐานสากล ซึ่งผู้กำกับดูแลในต่างประเทศมีการกำหนดธนาคารที่มีนัยต่อความเสี่ยงของระบบเช่นเดียวกัน
Photo: ธนาคารแห่งประเทศไทย
อ้างอิง: