ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรงกว่ารอบก่อนๆ เพราะจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารอบก่อน
ทั้งนี้ประเมินว่าการระบาดรอบนี้จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่าการระบาดระลอกอื่นๆ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีการล็อกดาวน์ใหญ่ และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ขณะที่แม้ว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แต่จากฐานต่ำในปีก่อนทำให้ยังทรงตัวไม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ธปท. มีความกังวลต่อพัฒนาการเศรษฐกิจไทย จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยจากข้อมูลแบบเร็วๆ ของ Google Mobility Index พบว่า การระบาดระลอก 3 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดลงมาก และกระทบความเชื่อมั่น โดยเฉพาะภาคบริการ โดยหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีการยกเลิกจองห้องพักสูงมาก และคาดว่าเดือนเมษายน 2564 จะมีอัตราการเข้าพักไม่ถึง 20% ส่วนเดือนพฤษภาคม 2564 คาดว่าจะอยู่ต่ำกว่า 10%
ดังนั้นเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นกลับมาฟื้นตัว ทางออกของเศรษฐกิจไทยคือการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงประชากรเพื่อให้เกิด Herd Immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อในประเทศและภาคการท่องเที่ยวของไทยที่เป็นส่วนหลักของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้หากปี 2564 กรณีที่ 1 ตามที่รัฐประกาศไว้ว่าปี 2564 นี้ประชากรไทยมีการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส จึงคาดการณ์ว่าจะเกิด Herd Immunity (ฉีดวัคซีนราว 70% ของประชากรทั้งหมด) ในไตรมาส 1/65 และสามารถเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ไตรมาส 3/65 ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว (GDP) ที่ 2% ในปี 2564 และโต 4.7% ในปี 2565
แต่หากไทยไม่สามารถกระจายฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายของรัฐ สามารถมองได้ 2 กรณีคือ กรณีที่ 2 หากมีการฉีดวัคซีนในปี 2564 ราว 64.6 ล้านโดส คาดว่า GDP ปี 2564 จะอยู่ที่ 1.5% และปี 2565 จะอยู่ที่ 2.8% ซึ่งคาดว่าจะเกิด Herd Imminity ในช่วงไตรมาส 3/65 และสามารถเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ไตรมาส 4/65 โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ 4.6 แสนล้านบาท
และกรณีที่ 3 หากมีการฉีดวัคซีนในปี 2564 ต่ำกว่า 64.6 ล้านโดส คาดว่า GDP ปี 2564 จะอยู่ที่ 1.0% และปี 2565 จะอยู่ที่ 1.1% ซึ่งคาดว่าจะเกิด Herd Imminity ในช่วงไตรมาส 4/65 โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ 8.9 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ขึ้นอยู่กับความเร็วในการกระจายฉีดวัคซีน โดยต้องติดตามความไม่แน่นอนทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะส่งผลต่อการแพร่ระบาด แต่หากมีการกระจายฉีดวัคซีน คาดว่าการระบาดในวงกว้างจะลดลง โดยต้องติดตามประสิทธิภาพของวัคซีนต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย
ทั้งนี้การฉีดวัคซีนของไทยพบว่า ช่วงที่ผ่านมาจำนวนที่สามารถฉีดได้สูงสุดที่ 1.5 แสนโดสต่อวัน แต่การจะกระจายฉีดวัคซีนให้ทั่วประเทศ และภายในสิ้นปีนี้คาดว่ารัฐจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 3 แสนโดส
อย่างไรก็ตาม การได้ภูมิคุ้มกันหมู่และความเร็วในการฉีดวัคซีนเป็นส่วนสำคัญที่สุด ซึ่งจุดสำคัญที่จะทำให้ฉีดวัคซีนได้เร็วมาจากอุปทานของวัคซีนและความสามารถในการกระจายฉีดวัคซีนตามที่กำหนดไว้ รวมถึงความเต็มใจของประชาชนในการฉีดวัคซีน
ขณะที่เศรษฐกิจไทยที่แม้จะมีแรงส่งจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก แต่การส่งออกไทยมีการจ้างแรงงานเพียง 3 ล้านคน หรือราว 8% จากแรงงานทั้งหมด ดังนั้นเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและไม่เท่าเทียมกันในแต่ละอุตสาหกรรมย่อมสร้างแผลเป็นทางเศรษฐกิจในหลายด้าน ดังนี้
- ภาคแรงงานเปราะบาง จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ทำให้แรงงานบางส่วนต้องออกจากงานและสูญเสียทักษะ
- ผู้ว่างงานระยะกลาง (1 เดือนถึง 1 ปี) ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร การค้า ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มนี้ย้ายไปสู่ผู้ว่างงานระยะยาว (1 ปีขึ้นไป) หรือออกนอกภาคแรงงานไป
- ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเด็กจบใหม่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งหางานยากขึ้นและเป็นผู้ว่างงาน
- แม้ว่าภาคการท่องเที่ยว ร้านอาหารจะปรับตัวได้บางส่วน แต่รายได้ที่ลดลงย่อมทำให้การจ้างงานลดลง และทำให้การฟื้นตัวช้าออกไปอีก
อย่างไรก็ตาม ธปท. ประเมินภาพเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามผลของมาตรการรัฐต่างๆ ที่ออกมาว่ามีเพียงพอหรือไม่ เชื่อว่าหลังจากนี้ภาครัฐน่าจะมีแพ็กเกจมาตรการอื่นๆ ออกมาช่วยผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า