×

แบงก์รัฐช่วยเหลือประชาชนแล้วกว่า 4 แสนล้านบาทผ่านการลดและตรึงดอกเบี้ย คาดประชุม กนง. 10 เม.ย. นี้ อาจผ่อนคลายนโยบายการเงิน

22.03.2024
  • LOADING...
แบงก์รัฐ ช่วยประชาชนไปแล้วกว่า 4 แสนล้าน ประชุม กนง.

คลังเผยแบงก์รัฐลด-ตรึงดอกเบี้ยช่วยประชาชนแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท คาดประชุม กนง. 10 เมษายนนี้ อาจดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น มองลดดอกเบี้ยไม่กระทบหนี้ครัวเรือน

 

พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในอัตราชะลอตัวซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 2.8% ในปี 2567 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับสูงที่ 2.5% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่ลดลงตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่โดยรวมเป็นการบ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ

 

นอกจากนี้สถานการณ์ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทำให้มีภาระผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ศักยภาพในการหารายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา กระทบการส่งออก และกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม

 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 10 เมษายน 2567 มองว่า กนง. จะมีการพิจารณาข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงอย่างรอบด้าน เช่น อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย ตลอดจนภาคการผลิตที่ยังขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจทำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นได้

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของทุกประเทศมีความอิสระและมีคณะกรรมการที่เป็นผู้กำหนดนโยบายจากการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ เช่น อัตราการจ้างงาน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 

 

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาธนาคารกลางประเทศต่างๆ ได้มีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังไม่กลับเข้ากรอบเป้าหมาย ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อนโยบาย การใช้อัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรนและการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายก็เป็นสิ่งที่สามารถนำมาพิจารณาได้

 

พรชัยกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการลดหรือตรึงดอกเบี้ย พร้อมทั้งจัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงจนเกินไป

 

นอกจากนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เตรียมนำเสนอแพ็กเกจมาตรการเพื่อช่วยเหลือด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวม 5 โครงการ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณต้นเดือนเมษายนนี้ ประกอบด้วย

 

  1. สินเชื่อตามโครงการ IGNITE THAILAND ที่เป็นความช่วยเหลือใน 3 กลุ่มธุรกิจคือ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ และกลุ่มอาหาร
  2. สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ
  3. สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
  4. สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อบุคลากรภาครัฐ
  5. สินเชื่อเพื่อการเริ่มต้นส่งออก

 

“จากมาตรการที่ได้ทำมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการที่แบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยกันตรึงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565 และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 เป็นการลดภาระประชาชนแล้วไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้จะเป็นการส่งสัญญาณไปถึงสถาบันการเงินต่างๆ ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย การพักหนี้ การช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ” พรชัยกล่าว 

 

อย่างไรก็ดี ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจดังกล่าว นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการของภาครัฐ ซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้วยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

 

พรชัยกล่าวว่า กระทรวงการคลังมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนในทันที เนื่องจากการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยไปยังสถาบันการเงินไม่ได้เกิดขึ้นเร็วในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นปกติ เนื่องจากสถาบันการเงินต้องใช้เวลาปรับตัวในการบริหารต้นทุนเงิน การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยในสถานการณ์ปกติจึงต้องใช้เวลา ดังนั้นจะไม่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นหรือประชาชนไปกู้เงินเพิ่มมากขึ้นในทันที

 

ขณะที่หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินได้มีกติกาเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด เช่น เกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ทำให้การปล่อยกู้ที่ไม่รัดกุมจะไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้หากมีความชัดเจนว่าดอกเบี้ยนโยบายจะมีการปรับลดลงจะทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการเตรียมตัวเพื่อวางแผนขอสินเชื่อหรือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และปรับปรุงแผนการชำระเงินได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X