×

กนง. หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้และปีหน้าเหลือ 3.2% และ 3.7% หลัง ศก.โลก มีแนวโน้มชะลอตัว พร้อมมองเงินเฟ้อปีหน้าสูงขึ้นเป็น 3%

30.11.2022
  • LOADING...

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า โดยปรับลด GDP ในปีนี้ลงจาก 3.3% เป็น 3.2% และในปี 2566 จาก 3.8% เป็น 3.7% ขณะเดียวกัน ยังปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีหน้าเพิ่มขึ้นจาก 2.6% เป็น 3% 

 

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงของ กนง. เป็นผลมาจากพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ซึ่งล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปในปีหน้าลงเหลือ 0.5% และ 0.4% ตามลำดับ ทำให้ไทยมีความเสี่ยงจะส่งออกสินค้าได้ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อย่างไรก็ดี ในภาพรวม กนง. ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสําคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 

 

“ตัวเลขนักท่องเที่ยวในตอนนี้อยู่ที่ระดับ 50% ของช่วงก่อนโควิดแล้ว แต่หนึ่งในปัจจัยที่เราต้องติดตามคือนโยบายการเปิดประเทศของจีนที่ยังมีความคลุมเครืออยู่ เพราะนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทย ณ ตอนนี้เรามองว่าจีนน่าจะเป็นประเทศให้นักท่องเที่ยวออกมาได้มากขึ้นในปีหน้า ซึ่งอาจจะเป็นช่วงปลายปีเราจึงประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเอาไว้ไม่สูงมากนัก แต่ถ้าจีนเปิดประเทศได้เร็วขึ้นก็จะเป็น Upside ต่อเศรษฐกิจไทย” ปิติกล่าว

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ที่มีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการครั้งก่อน เป็นผลมาจากราคาพลังงานในประเทศ และค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นหลังจากมาตรการอุดหนุนของภาครัฐหมดลงเป็นสําคัญ อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อในภาพรวมยังมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ 6.3%, 3.0% และ 2.1% ในปี 2565, 2566 และ 2567 ตามลําดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยจะทยอยลดลงอยู่ที่ 2.6%, 2.5% และ 2.0% ในปี 2565, 2566 และ 2567 ตามลําดับ 

 

“เราคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาส 3 ของปีหน้า ช้าลงจากคาดการณ์เดิมที่มองไว้เป็นในช่วงไตรมาส 2 สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน” ปิติกล่าว

 

นอกจากนี้ ปิติยังให้ความเห็นถึงกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการการเก็บภาษีขายหุ้น (Transaction Tax) ในอัตรา 0.11% ว่า เรื่องดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายบ้างแต่มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจากปัจจุบันก็มีหลายประเทศที่จัดเก็บภาษีในลักษณะนี้อยู่ นอกจากนี้ ถึงแม้นักลงทุนจะมีต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้น แต่ถ้ายังมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น มีความน่าลงทุน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมานิดหน่อยคงไม่สร้างปัญหาในภาพรวม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising