×

อัยการ-ตำรวจที่สั่งไม่ฟ้อง บอส อยู่วิทยา ไม่มาแจง กมธ. สายประสิทธิ์ยืนยันสูตรคำนวณรถวิ่ง 76 กม./ชม.

05.08.2020
  • LOADING...

วันนี้ (5 สิงหาคม) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการรัฐ วิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนสภาผู้แทนราษฎร โดยได้มีการเชิญ เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้องในคดีของ บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำคดีนี้ของฝ่ายอัยการ นำโดย ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี, ประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 และฤชา ไกรฤกษ์ อธิบดีอัยการ เจ้าของสำนวน พร้อมมีการเชิญ สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ตรวจวัดความเร็วรถของวรยุทธได้ 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาชี้แจงข้อเท็จจริงการทำคดีต่อกรรมาธิการ ซึ่งในวันนี้ เนตร นาคสุข ไม่ได้มาชี้แจง

 

อัยการยัน ความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไม่เคยมีในสำนวน

ประยุทธกล่าวว่าการสั่งไม่ฟ้องของเนตรครั้งนี้มีเหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องเป็นไปตามพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งผู้ต้องหามีการร้องขอความเป็นธรรมอยู่หลายครั้ง รวมถึงการร้องต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้มีพยานยืนยันสอดคล้องตรงกันว่าความเร็วรถของวรยุทธไม่ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเฉพาะผลการคำนวณของสายประสิทธิ์ ประกอบกับตำรวจพิสูจน์หลักฐานที่ตรวจวัดความเร็วครั้งแรกว่า 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมายอมรับในการสอบสวนเพิ่มเติมว่ามีการตรวจวัดความเร็วคลาดเคลื่อน และยืนยันว่าความเห็นของ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไปร่วมคำนวณความเร็วในที่เกิดเหตุและระบุความเร็วที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่มีอยู่ในสำนวนอย่างแน่นอน เพราะหากอยู่ อัยการก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่สั่งฟ้อง

 

ปรเมศวร์ยัน ไม่เคยใช้ความเห็นกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาใช้ในสำนวน
ขณะที่ปรเมศวร์กล่าวว่าจากการตรวจสำนวนทั้งหมดตามข้อเท็จจริง ส่วนตัวเชื่อว่าที่ว่าการชนมีการลากศพไป 200 เมตรนั้นไม่เป็นความจริง แต่ศพกระเด็นบนรถ โดยรถเฟอร์รารีได้ลากรถมอเตอร์ไซค์ไปต่ออีกระยะหนึ่ง ส่วนข้อมูลความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่แรกนั้นไม่มีผลการคำนวณยืนยัน เป็นเพียงเอกสารแผ่นเดียว ส่วนข้อเสนอจากการพิจารณาของกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้นยอมรับว่าอัยการต้องรับฟัง เพราะถือเป็นผู้แทนของประชาชน แต่ยืนยันว่าไม่ได้นำผลการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาใช้ในสำนวน เพียงแต่ไปสอบสวนเพิ่มเติมตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอมา

 

สายประสิทธิ์ยืนยัน สูตรคำนวณรถเฟอร์รารีวิ่ง 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าไฮไลต์ของการประชุมวันนี้มีเพียงสิ่งเดียวที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ คือการปรากฏตัวของสายประสิทธิ์ที่ตรวจวัดความเร็วรถได้ 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

สายประสิทธิ์ยืนยันว่าเป็นการคำนวณตามหลักวิชาการโดยวิเคราะห์จากภาพที่เกิดขึ้น ตรวจสอบความเร็วจากหน้าปัดนาฬิกาที่โชว์บนคลิป แต่ภาพที่ได้มาเป็นลักษณะมุมเฉียงและเกิดขึ้นหลายปี ที่สำคัญการคำนวณความเร็วจากภาพก็ไม่ได้ยืนยันความเร็วที่เกิดขึ้นจริง แต่อยู่บนสมมติฐานของตนเอง เพราะความเร็วในการถ่ายภาพเฟรม 25 เฟรมก็ไม่ได้ยืนยันความเร็วของรถที่แท้จริง ซึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ เวลาคำนวณการใช้ถุงลมนิรภัยจะใช้กล้องความเร็วสูงประมาณ 500 เฟรมต่อวินาที ดังนั้นสมมติฐานที่เกิดขึ้นเป็นการทำตามหลักการ และจะใช้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 

 

อัยการเจ้าของสำนวนสั่งฟ้อง เชื่อบอสประมาท ขับรถเร็ว

ด้านฤชา เจ้าของสำนวนซึ่งมีคำสั่งฟ้องวรยุทธก่อนหน้านี้กล่าวว่าการสั่งดำเนินการในฐานะพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนโดยสั่งฟ้อง 4 ข้อหา ซึ่งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหานี้พบการตรวจความเร็วจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งบริเวณที่เกิดเหตุ และในความเห็นส่วนตัวของตน นอกจากการคำนวณความเร็วจากกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นพยานทางนิติวิทยาศาสตร์แล้ว ในฐานะที่เป็นอาจาย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ผู้ช่วย ตนจะสอนน้องๆ เสมอว่าบางครั้งพยานนิติวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราวินิจฉัยได้จากพยานวัตถุที่โกหกหรือบิดเพี้ยนไม่ได้ กรณีนี้ดูกระจกหน้ารถยนต์ของผู้ต้องหาว่าแตกเป็นใยแมงมุมละเอียด ดูความเสียหายของรถและสภาพศพของผู้ตายหลังเกิดเหตุ โดยน่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุนั้นวรยุทธขับรถด้วยความเร็วสูงมาก ในความเห็นส่วนตัว ความจริงพยานนิติวิทยาศาสตร์นี้บางครั้งอาจไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในกรณีนี้เลย เพราะการขับรถด้วยความเร็วสูงก็เป็นการประมาทแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนปฏิเสธที่จะชี้แจงในประเด็นที่ก้าวล่วงดุลพินิจของพนักงานอัยการท่านอื่นหลังจากรับสำนวนต่อ เพราะเกรงว่าจะเป็นการทำลายชื่อเสียงองค์กร

 

พีระพันธุ์กรีดอัยการ-ตำรวจ เลิกอุ้มคนทำสถาบันเสื่อมเสีย

ขณะที่ผู้ที่ทำให้การประชุมครั้งนี้กระชับและชัดเจนขึ้นคือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะกรรมาธิการ ซึ่งกล่าวระหว่างการประชุมตอนหนึ่งว่าประเด็นหลักอยู่ที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่สั่งฟ้อง ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต้องออกมาชี้แจงเองว่าเหตุผลที่สั่งเพราะอะไร หากผิดก็ต้องรับผิดส่วนตัว แต่กลับเอาองค์กรของตัวเองผ่านคนอื่นมาชี้แจง สรุปแล้วขณะนี้สังคมกำลังถูกคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจมาอธิบายสิ่งที่คนอื่นทำ ส่วนคนที่ทำไม่ต้องพูด

 

“เหตุใดคนในองค์กรทั้งสององค์กรถึงพร้อมใจกันเอาชื่อเสียงเกียรติยศขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นหลักค้ำประเทศมาเสี่ยงกับคนเพียงแค่สองคน แทนที่จะให้สองคนนั้นเป็นคนชี้แจงด้วยตัวเขาเอง เราในฐานะคนในสถาบันวิชาชีพกฎหมาย ผมขอเถอะครับ อย่าทำให้สถาบันวิชาชีพกฎหมายของเราเสียหายไปมากกว่านี้เลย” พีระพันธุ์กล่าว

 

ในช่วงท้าย ที่ประชุมกรรมาธิการการกฎหมายฯ มีมติร่วมกันว่าจะส่งหนังสือเชิญบุคคลเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการอีกครั้ง เช่น เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด (อัยการที่ลงนามสั่งไม่ฟ้อง), พล.ต.ท. เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตำรวจที่ลงนามเห็นพ้องตามอัยการสั่งไม่ฟ้อง), ธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา และอดีตเลขานุการกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, พนักงานสอบสวนคดีนี้ชุดแรก รวมถึง วรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ถูกกล่าวหา

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X