ตลาดกาแฟพร้อมดื่มในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเติบโต สะท้อนจากข้อมูลของ Nielsen (Thailand) เกี่ยวกับ Retail Index of Ready to Drink Coffee Market ที่เผยว่า ในปี 2565 มูลค่าตลาดรวมพุ่งสูงถึง 10,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตมากกว่า 10%
นี่ไม่ใช่แค่สถิติทางเศรษฐกิจที่เป็นนามธรรมเท่านั้น หากแต่ยังมีข้อพิสูจน์ถึงพฤติกรรมการดื่มกาแฟที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคไทย ซึ่งผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังมองหากาแฟเพื่อความเพลิดเพลินระหว่างเดินทาง โดยหันหลังให้กับกาแฟที่ชงเองที่บ้านแบบดั้งเดิม
ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเทรนด์นี้คือ การที่คนส่วนใหญ่ยังคงมองหากาแฟที่ผ่านการรังสรรค์อย่างพิถีพิถันและมีส่วนผสมที่คุณภาพดี นอกจากนี้ การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ในตลาดได้กระตุ้นการเติบโตเพิ่มเติม ด้วยการนำเสนอทางเลือกที่สดใหม่และไม่เหมือนใครให้กับผลิตภัณฑ์กาแฟแบบดั้งเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คอกาแฟจะต้องเปลี่ยนวิธีแก้ง่วงหรือไม่ หลังราคาเมล็ดกาแฟโรบัสต้าพุ่งสูงสุดในรอบ 15 ปี จากผลผลิตขาดแคลนเพราะเอลนีโญ
- เป็นผู้ตามไล่ล่าผู้นำสนุกกว่า! เปิดแผน ‘กาแฟพันธุ์ไทย’ กับการสร้างการเติบโตก่อนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2568
- บุญรอดฯ จับมือ OR นำ ‘คาเฟ่ อเมซอน’ ลงขวดเป็นครั้งแรก พร้อมหวนคืนสู่ตลาดชาด้วย ชาฮารุ ย้ำสินค้าพรีเมียม แต่ราคาเข้าถึงง่ายเพียง 30-35 บาท
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่กระตุ้นการเติบโตของตลาดกาแฟคือ เทรนด์ ‘คาเฟ่ฮอปเปอร์’ แนวโน้มนี้ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบกาแฟแสวงหาและเยี่ยมชมร้านกาแฟที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่น ซึ่งตอนนี้คาเฟ่ฮอปปิ้งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในประเทศไทย
หนึ่งในผู้เล่นที่กำลังใช้ประโยชน์จากเทรนด์คาเฟ่ฮอปเปอร์ที่เติบโตนี้คือ BOSS Coffee แบรนด์กาแฟจากแดนซามูไร ที่อยู่ภายใต้บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด
ย้อนกลับไป BOSS Coffee เริ่มทำการตลาดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2564 โดยใช้ความแตกต่างจากเทคนิคการสกัดแบบ Flash Brew ทำให้ได้กาแฟที่มีรสชาติเข้มข้น กลมกล่อม ลงตัว ในมาตรฐานการผลิตเดียวกับซันโทรี่ ประเทศญี่ปุ่น
ความแตกต่างนี้ทำให้ BOSS Coffee มียอดขายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นถึง 300% ในปี 2565 และเติบโต 120% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่เพียงพอสำหรับ BOSS Coffee ที่มองว่าตัวเองยังสามารถเติบโตได้อีกมาก จึงได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการเพิ่มยอดขายจากกลุ่มผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟพร้อมดื่มรูปแบบกระป๋อง
เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ‘กาแฟพร้อมดื่มคุณภาพสไตล์คาเฟ่’ เป็นที่มาของการเปิดตัว ‘BOSS Café’ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลกต่อจากออสเตรเลียที่เปิดตัวโมเดลนี้
BOSS Café ตั้งอยู่ที่ชั้น G สยามเซ็นเตอร์ เปิดให้บริการจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 โดย BOSS Coffee ขอไม่เปิดเผยตัวเลขยอดขาย แต่หวังว่าทำเลแห่งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้รู้จัก BOSS Coffee มากขึ้น
ในประเทศญี่ปุ่น BOSS Coffee มีชื่อเสียงที่น่าเกรงขาม โดยเป็นแบรนด์กาแฟพร้อมดื่มชั้นนำเป็นเวลา 30 ปี และมีผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคมากกว่า 300 รายการ ซึ่งในไทย BOSS Coffee ก็อยากจะดำเนินตามรอยในญี่ปุ่น ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นทั้งจากผู้เล่นหน้าเก่าและหน้าใหม่ (เช่น บุญรอดฯ จับมือ OR นำ ‘คาเฟ่ อเมซอน’ ลงขวดเป็นครั้งแรก) ที่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
แต่ด้วยชื่อจากแดนซามูไร ตลอดจนเทรนด์ที่เปลี่ยนไปของคนไทย ทำให้ BOSS Coffee หวังว่าปีนี้จะเติบโต 20-30% และโตเป็น 2 เท่าภายใน 3 ปีต่อจากนี้