“การผูกน้ำใจกันไว้นั้น ธรรมดาญาติพี่น้องก็ไปเยี่ยมถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน แต่สำหรับประเทศนั้น ประชาชนนับแสนล้านจะไปเยี่ยมกันก็ยาก เขาจึงยกให้เป็นหน้าที่ของประมุข ในการไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ข้าพเจ้าก็แสดงตนต่อประชาชนของประเทศเหล่านั้นว่า ประชาชนชาวไทยมีมิตรใจต่อเขา และข้าพเจ้าจะพยายามเต็มที่ เพื่อให้ฝ่ายเขารู้จักเมืองไทย และให้เกิดมีน้ำใจดีต่อชาวไทย”
(ความตอนหนึ่งใน พระราชดำรัสอำลาประชาชนชาวไทย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือน 14 ประเทศ 13 มิถุนายน 2503)
พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านบนที่หยิบยกมานั้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ อันทรงคุณค่าที่อยู่ในหนังสือเทิดพระเกียรติ ‘นวมินทรบรมนาถราชไมตรี’ ประมวลเรื่องราวประวัติศาสตร์ในการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ภายในเล่มรวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์ ภาพพระราชกรณียกิจ พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบรมราโชวาท ภาพยนตร์พระราชกรณียกิจ (จัดทำเป็นคิวอาร์โค้ด) ตลอดจนเนื้อหาทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญ บางเหตุการณ์อนุชนรุ่นหลังอาจไม่เคยเห็น นำมาเรียบเรียงใหม่โดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ใช้เวลาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลกว่า 1 ปี เพื่อให้ได้หนังสืออันทรงคุณค่าแห่งประวัติศาสตร์ของคนไทย ความหนา 590 หน้า แต่ละบทมีคลิปวีดิทัศน์พระราชกรณียกิจแทรกอยู่ในเนื้อหาหนังสือ จำนวน 41 ตอน ความยาวตอนละประมาณ 2 นาที
ตลอดปี 2560 เรื่องราวประวัติศาสตร์ในทุกแง่มุมตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้รับการรวบรวมและเผยแพร่มากมายจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ แต่ยังไม่มีหนังสือเทิดพระเกียรติเล่มใดที่ประมวลเรื่องราวประวัติศาสตร์ในการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ระหว่าง พ.ศ. 2502-2537
คลิปเสด็จพระราชดำเนินประพาสนครรัฐวาติกัน
การเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญด้านหนึ่งที่ทรงปฏิบัติตลอดพระชนม์ชีพ และในประวัติศาสตร์ไทยมีมหากษัตริย์ไทยเพียง 2 พระองค์ที่เสด็จพระราชดำเนินเจริญราชไมตรีกับนานาประเทศอย่างเป็นทางการ นั่นก็คือ รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 9 น่าเสียดายที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเพียงภาพถ่ายเท่านั้น ในขณะที่สมัยรัชกาลที่ 9 มีการบันทึกพระราชกรณียกิจในรูปแบบวีดิทัศน์ ธนาคารกสิกรไทยจึงรวบรวมวีดิทัศน์การเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศทั้งหมด 28 ประเทศ กับ 1 นครรัฐ จัดทำในรูปแบบคิวอาร์โค้ด พร้อมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถ่ายทอดทุกรายละเอียดลงในหนังสือเทิดพระเกียรติเล่มนี้
พระบรมฉายาลักษณ์ที่อัญเชิญมาขึ้นปกหนังสือเทิดพระเกียรติ ‘นวมินทรบรมนาถราชไมตรี’ เป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ประทับรถม้าพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยัง Guild Hall เมื่อครั้งไปเยือนสหราชอาณาจักร
เนื้อความช่วงแรกของหนังสือ ปูทางให้ผู้อ่านได้ทราบถึงจุดมุ่งหมายของการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน ไล่เรียงตั้งแต่ ระดับของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ การจัดงบประมาณการเสด็จพระราชดำเนิน เครื่องราชอิสริยาภรณ์และของที่ระลึก ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างยาวนาน พระราชพาหนะในการเสด็จฯ การเตรียมฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตระเตรียมฉลองพระองค์ด้วยพระองค์เอง เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงฉลองพระองค์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยอย่างแท้จริง
ความตอนหนึ่งในหนังสือเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปเยือนประเทศฝรั่งเศสว่า “ศูนย์รวมความชื่นชมอยู่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในฉลองพระองค์ชุดราตรีแบบสากลตัดเย็บด้วยผ้าไหมซาติน ปักลวดลายแบบไทยวิจิตร พร้อมทรงรัดเกล้าไทยงดงามยิ่ง…”
วันที่ 18 ธันวาคม 2502 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้ นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเสด็จพระราชดำเนินเจริญพระราชไมตรี เนื้อความตอนหนึ่งในหนังสือบรรยายไว้ว่า
“ชาวเวียดนามยืนรอรับเสด็จเพื่อชมพระบารมีกันอย่างเนืองแน่น ทั้งข้าราชการ ประชาชน และเด็กนักเรียนหญิง-ชาย ประมาณ 200,000 คน และเมื่อเห็นขบวนเสด็จฯ ผ่าน ทุกคนต่างโบกธงพร้อมส่งเสียงถวายพระพรดังกึกก้อง”
คลิปเสด็จพระราชดำเนินประพาสสาธารณรัฐเวียดนาม หรือเวียดนามใต้
เมื่อครั้งไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย พลอากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังจากเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วว่า “มีผู้ถวายสิ่งของจำนวนมากมาย และล้วนเป็นของใหญ่ๆ ทั้งสิ้น อาทิ ประธานาธิบดีทูลเกล้าฯ ถวายพระที่ (เตียงนอน) ชุดรับแขก ตู้ ซึ่งล้วนทำด้วยไม้อย่างดี และสิ่งของอื่นๆ อีก ของถวายไม่อาจจะนำมาพร้อมกันได้ต้องส่งทางเรือ มากมายเหลือเกินจนอินโดนีเซียบอกว่าการรับเสด็จที่นั่นนับเป็นประวัติการณ์ อย่างที่ไม่มีประมุขของชาติใดจะได้รับมาก่อนเลย…”
อาจกล่าวได้ว่า ไม่เพียงแต่เฉพาะประชาชนคนไทยเท่านั้นที่รักพระองค์ ภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่หยิบยกมานั้นอธิบายทุกอย่างไว้หมดแล้ว
หนึ่งในบันทึกอันล้ำค่าที่ปรากฏในหนังสือคือ กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อำลาประชาชนชาวไทยก่อนเสด็จพระราชดำเนินในการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีกระแสพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวไทยหลังเสร็จสิ้นการเจริญพระราชไมตรี บ้างก็เล่าถึงนวัตกรรมของประเทศนั้นๆ ที่ได้พบเห็น บ้างก็เล่าถึงผลสำเร็จของการไปเยือน เหนือสิ่งอื่นใดก็เพื่อให้คนไทยได้รับรู้ว่า ไม่ว่าพระองค์จะอยู่ที่ใดในโลก ก็ทรงเป็นห่วงและคิดถึงประชาชนของพระองค์เสมอ
เนื้อความกระแสพระราชดำรัสบางตอนนอกจากจะทำให้คนไทยได้รำลึกถึงพระองค์ ยังเหมือนเป็นการตอกย้ำให้ประชาชนชาวไทยทุกคนตระหนักถึงการทำหน้าที่ของตน เหมือนที่พระองค์ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้คนไทยเจริญรอยตาม ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปรวม 14 ประเทศ “การไปต่างประเทศคราวนี้ ก็ไปเป็นราชการแผ่นดิน เป็นการทำตามหน้าที่ของข้าพเจ้า ในฐานะประมุขของประเทศ”
คลิปเสด็จพระราชดำเนินประพาสสหราชอาณาจักร
สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านจะสัมผัสถึงความรักในประชาชนคนไทยของพระองค์ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่พระองค์เสด็จฯ ไปเยือนประเทศที่มีคนไทยพักอาศัยอยู่ พระองค์จะโปรดเกล้าฯ ให้คนไทยเข้าเฝ้า เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปเยือนประเทศออสเตรเลีย ทั้งสองพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนไทยในนครซิดนีย์เข้าเฝ้าฯ ณ ที่ประทับ หรือเมื่อคราวไปเยือนนิวซีแลนด์ ทั้งสองพระองค์ก็พระราชทานวโรกาสให้ข้าราชการในนิวซีแลนด์และนักเรียนทุนโคลัมโบและทุนส่วนตัวเข้าเฝ้าฯ พร้อมทั้งมีพระบรมราโชวาทแก่นักเรียนไทย ทรงถามถึงชีวิตความเป็นอยู่และผลการศึกษาของนักเรียนโดยทั่วกัน
บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หลายบทหลายตอนในหนังสือเทิดพระเกียรติเล่มนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่แค่บันทึกพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 เท่านั้น บางเหตุการณ์ยังทำให้คนไทยได้ตระหนักถึงอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ของพระองค์ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนทั้งโลก อาทิ อัจฉริยภาพด้านดนตรี ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีที่บรรเลงในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ จวนผู้ว่าการมลรัฐฮาวาย โดยทรงแคลริเนต 2 เพลง คือ เพลง Blues in B Flat และ Back Home in Indiana หรือเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปเยือนสวีเดน ทรงแซกโซโฟนร่วมกับวงดนตรีจนเป็นที่ประทับใจแก่เจ้าภาพและสื่อมวลชนสวีเดนที่ติดตามข่าวอย่างมาก
การได้ใช้เวลาไล่เรียงอ่านทุกตัวอักษรในหนังสือเทิดพระเกียรติเล่มนี้ เหมือนได้เดินทางย้อนเวลากลับไปยังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เห็นการทรงงานของพระองค์ ได้เห็นประวัติศาสตร์บ้านเมืองและขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศต่างๆ ที่พระองค์เสด็จฯ เยือน อาจกล่าวได้ว่านี่คือบันทึกทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอันประเมินค่ามิได้ ผลงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ธนาคารกสิกรไทยตั้งใจทำขึ้นเพื่อให้ปวงชนและอนุชนชาวไทยได้ศึกษาหาความรู้ ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยที่มีทั้งบุญญาธิการและพระปรีชาสามารถที่จะไปเจริญพระราชไมตรีแก่นานาประเทศ ปูทางให้รัฐบาลไทยในหลายๆ ยุคสมัยได้สามารถเชื่อมต่อสัมพันธภาพระหว่างประเทศ และให้ประเทศไทยได้เป็นที่รู้จักของนานาอารยประเทศ
คลิปเสด็จพระราชดำเนินประพาสสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนชนลาว
สำหรับหนังสือเทิดพระเกียรติ ‘นวมินทรบรมนาถราชไมตรี’ นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานพระราชานุญาตให้ธนาคารกสิกรไทยดำเนินการจัดทำหนังสือขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 จัดพิมพ์ทั้งหมด 15,999 เล่ม เนื่องในโอกาสวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เป็นวันครบรอบ 59 ปีแห่งการเจริญพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐเวียดนามเป็นแห่งแรก ในวันที่ 18 ธันวาคม 2502
ด้วยความตั้งใจของธนาคารกสิกรไทยในการบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ในการประกอบพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ธนาคารกสิกรไทยจึงมอบหนังสือแก่สถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป สถานทูตต่างๆ หน่วยงานวัฒนธรรม หอจดหมายเหตุ คณะรัฐมนตรีสภานิติบัญญัติ กระทรวงต่างๆ รวมถึงห้องสมุดทั่วประเทศ โดยไม่มีการจัดหน่ายแต่อย่างใด ผู้สนใจสามารถอ่านได้ที่ www.นวมินทรบรมนาถราชไมตรี.com หรือดาวน์โหลดอ่านฟรีในรูปแบบ e-Book จากแอปฯ Ookbee
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์