หนอนหนังสือ นักอ่านมือพระกาฬ (มือช้อปปิ้ง) ทั้งหลาย ขอเชิญเตรียมตัว เตรียมเงินในกระเป๋า และฟิตร่างกายให้พร้อม ปีนี้งานมหกรรมหนังสือระดับชาติกำลังจะกลับมาอีกครั้ง โดยมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 18-29 ตุลาคมนี้ ที่เก่าเวลาเดิม คือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กาดอกจันตัวโตๆ ในปฏิทินไว้ได้เลย
สำหรับมหกรรมนี้เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี และจัดขึ้นต่อเนื่องยาวนานมาแล้ว 22 ครั้งด้วยกัน ภายใต้การนำของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)
หลายคนน่าจะมีโอกาสมาเดินงานนี้หลายครั้ง และคงได้สัมผัสบรรยากาศและกิจกรรมที่ต่างกันออกไป แต่งานครั้งนี้คงไม่เหมือนครั้งไหนๆ เพราะกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นอยู่ในห้วงเวลาแห่งความโศกเศร้าของคนไทย หัวใจสำคัญจึงเป็นการจัดงานเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อวงการหนังสือไทย
THE STANDARD จะพาไปสำรวจว่างานหนังสือในครั้งนี้มีอะไรบ้างที่น่าสนใจ นอกเหนือไปจากการออกบูธของสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั่วฟ้าเมืองไทย
- นิทรรศการ ‘ความทรงจำ’ ครั้งยิ่งใหญ่ 7 ทศวรรษ
ช่วงเวลาของการจัดงานมหกรรมหนังสือในครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่ตรงกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประชาชนคนไทยต่างไม่อยากให้มาถึง คณะกรรมการได้จัดงานขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ความทรงจำ’ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อวงการหนังสือไทย โดยเชื่อมโยงเป็นนิทรรศการหลักของงาน นำเสนอพระราชกรณียกิจของพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ผ่านหนังสือพระราชนิพนธ์และหนังสือที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์กว่า 7 ทศวรรษ ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ว่า
“…หนังสือเป็นการสะสมความรู้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนเป็นทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้…”
โดยร้อยรวมหัวใจเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อถวายพระเกียรติยศแด่พระองค์ท่าน นิทรรศการแบ่งเป็น 7 ทศวรรษ เริ่มต้นตั้งแต่ ทศวรรษแรก ซึ่งเป็นการเริ่มต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ขณะมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
และทรงปฏิบัติดังเช่นที่ให้สัญญากับพสกนิกรมาตลอดรัชสมัยจนลุถึงทศวรรษสุดท้ายในแผ่นดินธรรมของพระองค์
นอกจากนี้แล้ว ตลอดระยะเวลาการจัดงาน โทรทัศน์ทุกเครื่องที่อยู่ในงานมหกรรมครั้งนี้จะถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ โดยตลอด เพื่อไม่ให้พสกนิกรพลาดการรายงานข่าวครั้งสำคัญ
- จัดแสดง ‘พระราชนิพนธ์เรื่องแรกเมื่อเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์’
อีกหนึ่งไฮไลต์ของนิทรรศการความทรงจำได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณไพศาล เปี่ยมเมตตาวัฒน์ นักสะสมหนังสือและภาพโบราณที่จะนำ นิตยสาร ‘วงวรรณคดี’ ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษให้ตีพิมพ์พระราชนิพนธ์เรื่อง ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์’ พระราชนิพนธ์เรื่องแรกเมื่อเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์ มีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ภายในเล่มที่หาชมได้ยาก ถือเป็นครั้งแรกของการจัดแสดง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในศาสตร์และศิลป์หลายแขนง รวมถึงภาษาและวรรณคดีด้วย พระองค์ได้พระราชนิพนธ์วรรณกรรมหลายรูปแบบ ทั้งความเรียง นิทาน และเรื่องแปล ทรงมีความรอบรู้แตกฉานในภาษาทั้งต้นทางและปลายทาง จนสามารถแปลทั้งสำนวนที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง
งานครั้งนี้พสกนิกรจึงไม่ควรพลาดที่จะได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพของพระองค์ผ่านหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มแรกเมื่อทรงเสด็จขึ้นครองราชย์และพระราชนิพนธ์เล่มอื่นๆ
และยังมีการจัดแสดงหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 7 ทศวรรษในรัชสมัยของพระองค์
ที่สำคัญคือ มีการแจกหนังสือพระราชนิพนธ์ ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์’ ฉบับคัดลอกมาจากฉบับจริงให้กับประชาชนที่มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย โดยเบื้องต้นตีพิมพ์ไว้ 10,000 เล่ม คาดว่าน่าจะไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งอาจจะมีการตีพิมพ์เพิ่มอีกครั้ง เพราะฉะนั้นพลาดไม่ได้จริงๆ ขอย้ำอีกครั้ง
- ที่สุดของการจัดทำสิ่งพิมพ์และของที่ระลึก หลังเสด็จสวรรคต
นอกจากไฮไลต์หลักเป็นการจัดนิทรรศการเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาพระราชกรณียกิจของพระองค์ รวมทั้งพระอัจฉริยภาพผ่านงานพระราชนิพนธ์ต่างๆ ในงานนี้ยังมีสิ่งพิมพ์และของที่ระลึกต่างๆ ที่จัดทำขึ้นภายหลังวันเสด็จสวรรคต 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานที่รวบรวมเอาหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาแสดงให้ชมมากที่สุด
หลายสำนักพิมพ์มีการจัดทำหนังสือเพื่อให้ประชาชนสามารถเก็บเป็นที่ระลึกและเป็นความทรงจำในโอกาสอันสำคัญครั้งนี้ด้วย
- เสวนา ‘9 วัน 9 ความทรงจำ ธ สถิตอยู่ในใจไทยนิรันดร์’
ตลอดระยะเวลาของการจัดงาน ผู้มีชื่อเสียงในสาขาต่างๆ จะมาร่วมพูดคุยบนเวทีเอเทรียมทุกวัน ในเวลา 18.00 น. (ยกเว้นวันที่ 25 และ 26 ตุลาคม เนื่องจากมีพระราชพิธีสำคัญ) เช่น นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี, พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ, นายแพทย์ดนัย โอวัฒนาพานิช (บรรยายเกี่ยวกับการสะสมพระเครื่องของพระองค์) ซึ่งจะมาถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการถวายงานและแง่มุมอื่นๆ ที่เราอาจยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่จะมาถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์ถึงพระองค์ท่านอีกด้วย
ถือว่าเป็นช่วงเวลาและโอกาสที่ดีอีกครั้งหนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพระองค์ท่านผ่านผู้ที่เคยถวายงานใกล้ชิด
- ‘ที่คั่นหนังสือแห่งความทรงจำ’ Limited Edition
จัดทำขึ้นเป็นพิเศษโดยนักออกแบบชื่อดังเพื่องานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งมีจำนวน 9,999 ชิ้น ในราคา 99 บาท และรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้กับโรงพยาบาลศิริราช เพื่อสมทบทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา งานนี้ท่านที่อุดหนุนจะได้ทั้งความอิ่มใจจากของที่ระลึกที่มีจำนวนจำกัดเพื่อเก็บไว้สะสม แล้วยังได้ทำบุญไปพร้อมกันอีกด้วย
ส่วนแรงบันดาลใจของการออกแบบนั้น วีรดา ศิริพงษ์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ แบรนด์ Carpenter เปิดเผยว่า การออกแบบในครั้งนี้เป็นการนำเศษไม้เหลือใช้ที่มาจากงานประตู หน้าต่าง ซึ่งโดยปกติแล้วจะนำไปทำฟืน จึงเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้มาดีไซน์เป็นของที่อยู่ได้ยั่งยืนแบบที่พระองค์ท่านสอน เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการทำที่คั่นหนังสือ อีกทั้งวัสดุที่เป็นไม้และเชือกหนัง ทำให้ใช้แล้วมีความรู้สึกของการสัมผัส ความนุ่มนวล ส่วนภาพที่นำมาประกอบในที่คั่นหนังสือทั้ง 3 ภาพนี้ ประชาชนคนไทยน่าจะเคยเห็นและคุ้นเคย เพราะเป็นภาพพระหัตถ์ของพระองค์ ทำให้มีความรู้สึกเหมือนพระองค์ยังคอยโอบอุ้มเราอยู่
โดยภาพแรกเป็นภาพที่พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ทักทายประชาชน บ่งบอกถึงความสามัคคี แบบที่ 2 ภาพพระหัตถ์ขณะทรงงาน ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก แบบที่ 3 ภาพที่ท่านน้อมรับดอกบัวจากคุณยายท่านหนึ่ง โดยด้านหลังจะมีเลข ๙ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีพระราชดำรัสอยู่ที่แพ็กเกจของทุกรูปแบบ
ปิติ อัมระวงศ์ นักออกแบบอิสระแห่งสตูดิโอ o-d-a เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการทำที่คั่นหนังสือส่วนที่ตนเองออกแบบว่า ที่คั่นหนังสือทำมาจากโลหะ ชื่องาน ‘ความทรงจำ’ รูปทรงที่นำมาใช้ถือว่าเป็นไอคอนที่ทุกคนจะคุ้นเคยอยู่แล้วเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยได้นำเอาภาพกล้องที่พระองค์ทรงใช้เวลาทรงงาน สุนัขทรงเลี้ยง และรถยนต์ส่วนพระองค์มาเป็นแบบ เวลาคั่นหนังสือจะได้ระลึกถึงพระองค์ท่านไปพร้อมๆ กัน วิธีใช้เพียงเหน็บเข้าไปยังด้านบนของหน้าหนังสือ ส่วนด้านหลังมีข้อความพระราชดำรัสด้วย
- พบกับการจัดแสดงปกหนังสือและการออกแบบรูปเล่มดีเด่น
ปีที่แล้วจัดกิจกรรมนี้เป็นปีแรก โดยในปีนี้มีผลงานส่งเข้ามาเกือบ 400 เล่ม นำมาคัดเหลือ 100 เล่ม ที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ 100 Annual Book and Cover Design หรือ 100 ABC จากกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งในปีนี้เมื่อคัดแล้วได้หนังสือ 99 เล่ม แบ่งเป็นปก 80 เล่ม รูปเล่มอีก 19 เล่ม
หัวใจสำคัญของกิจกรรมนี้คือการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้เขียนผ่านรูปแบบปก ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นเหมือนคลังความรู้เพื่อให้ประชาชนได้เห็นถึงเทคนิคของการจัดทำปกหนังสือและรูปเล่ม เช่น การเลือกใช้กระดาษ วิธีการจัดรูปเล่มภายใน ซึ่งสามารถเลือกใช้วัตุดิบที่มีในประเทศไทยได้ ถือว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดการออกแบบและจัดทำหนังสือไปพร้อมๆ กันด้วย นอกเหนือจากการมีเนื้อหาที่มีคุณภาพอยู่แล้ว โดยบางส่วนของผลงานจากฝีมือของคนไทยจะถูกนำไปจัดแสดงอวดสายตาให้กับต่างประเทศได้ชมด้วย
- แสตมป์ชุดพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ที่สุดแห่งจดหมายเหตุแผ่นดิน
เป็นอีกครั้งสำคัญในงานนี้ที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เตรียมจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึกชุด ‘พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’ โดยเริ่มจำหน่ายภายในงาน ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมเป็นต้นไป แสตมป์ชุดนี้จัดพิมพ์ทั้งหมด 3,000,000 ชุด นักสะสมที่มาในงานนี้อาจต้องรีบมาต่อคิวจับจองเป็นเจ้าของ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเปิดให้จองและปิดรับจองไปแล้ว แต่จะนำมาจำหน่ายภายในงานนี้ด้วย ถือว่าเป็นคอลเล็กชันพิเศษ
แสตมป์ชุดนี้จัดพิมพ์ด้วยกัน 3 รูปแบบ โดยแผ่นแรกเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ขณะทรงแย้มพระสรวล จำนวน 9 ภาพ ราคาดวงละ 9 บาท แผ่นที่ 2 ภาพเครื่องประกอบที่สำคัญ ได้แก่ พระบรมโกศ พระยานมาศสามลำคาน และพระมหาพิชัยราชรถ ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พื้นหลังเป็นภาพพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทที่ประดิษฐานพระบรมศพ รวม 3 ดวง ดวงละ 3 บาท และแผ่นที่ 3 เป็นภาพพระเมรุมาศ 1 ดวง ชนิดราคา 9 บาท ประกอบภาพพสกนิกรร่วมกันจุดเทียนถวายความอาลัย ขณะเดียวกันภายในงานยังมีแสตมป์ต่างๆ ที่หาได้ยากหรือที่เคยออกจำหน่ายมาแล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะหาซื้อไม่ทันในช่วงเวลาดังกล่าว ทางบริษัทไปรณีย์ไทยก็ได้นำออกมาวางจำหน่ายในครั้งนี้ด้วย
- นิทรรศการภาพถ่าย ‘๙ สู่สวรรคาลัย’
เป็นการบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยเน้นภาพเป็นหลัก ทั้งภาพความรู้สึกของพสกนิกรของพระองค์ภายหลังเหตุการณ์เสด็จสวรรคต พระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านต่างๆ รวมทั้งภาพเบื้องหลังการเตรียมงานสร้างพระเมรุมาศ
ซึ่งการบรรยายความรู้สึกโศกเศร้าอาลัยผ่านภาพถ่ายนั้นสามารถบอกเล่าได้ลึกซึ้งกว่าคำพูดหรือตัวอักษรเป็นร้อยเป็นพันคำ
โดยจะบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 วันที่พระองค์เสด็จสวรรคตเรื่อยมา
- กว่าล้านเล่มรอให้เลือกเป็นเจ้าของ
พบกับหนังสือราคาพิเศษในงานมากกว่า 1,000,000 เล่ม จากสำนักพิมพ์ 389 ราย รวมทั้งสิ้น 939 บูธ บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร
อีกไม่นานเกินรอ มหกรรมหนังสือระดับชาติกำลังจะมาถึงในเดือนหน้า และเวลานั้นทุกคนจะได้มาร่วมกันสร้างความทรงจำครั้งสำคัญ ความทรงจำต่อพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในใจของปวงประชา และความทรงจำต่อการเลือกสรรหนังสือเพื่ออ่านและเก็บเป็นที่ระลึก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากพลังของการอ่านที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาตัวเรา และนำไปสู่การพัฒนาประเทศทุกๆ ด้านในอนาคต