×

ประชาชนเนืองแน่น งานหนังสือวันแรก ภายใต้แนวคิด ‘ความท๙งจำ’ รำลึกถึง ร.9

18.10.2017
  • LOADING...

     งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-29 ตุลาคม ซึ่งตรงกับห้วงเวลาสำคัญ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อวงการหนังสือไทย ภายใต้แนวคิดหลัก ‘ความท๙งจำ’

 

 

     สำหรับไฮไลต์ของนิทรรศการความทรงจำคือ การนำนิตยสาร วงวรรณคดี ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นนิตยสารที่ได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษให้ตีพิมพ์ พระราชนิพนธ์เรื่อง ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์’ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องแรกเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ มาจัดแสดงร่วมกับหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มอื่นๆ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 7 ทศวรรษในรัชสมัยของพระองค์

 

 

     โดยเนื้อหาของนิทรรศการแต่ละทศวรรษจะแสดงได้ถึงประวัติศาสตร์โดยรวมของสังคมไทย ผ่านความทรงจำของเรื่องเล่าในตัวอักษร ทั้งจากหนังสือพระราชนิพนธ์และหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับนิทรรศการภาพถ่ายของรัชกาลที่ 9 ที่หาชมได้ยาก

 

 

     นอกจากนี้ในนิทรรศการยังได้จัดแสดงสิ่งพิมพ์และของที่ระลึกต่างๆ ที่จัดทำขึ้นหลังวันสวรรคต 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่รวบรวมหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาแสดงให้ชมมากที่สุดอีกด้วย

 

 

สำหรับประชาชนที่มาในงานนี้จะได้รับแจกหนังสือที่ระลึก ที่จัดทำขึ้นเพื่อแจกในมหกรรมหนังสือ วงวรรณคดี ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งจำลองทั้งรูปเล่มและขนาดเหมือนต้นฉบับ เพื่อแจกให้กับผู้ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

     เพียงถ่ายภาพคู่กับโปสเตอร์ ‘ความท๙งจำ’ ซึ่งจะติดอยู่ภายในงานมหกรรมหนังสือ โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ตั้งค่าสาธารณะ พร้อมแฮชแท็ก #ความท๙งจำ และ #bookthai จากนั้นนำมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ ณ บูธนิทรรศการภายในงาน โดยเปิดให้แลกตั้งแต่วันที่ 18 -24 ตุลาคม 2560 วันละ 2 รอบ รอบละ 800 เล่ม ระหว่างเวลา 11.00-12.00 น. และ 17.00-18.00 น.

     งานมหกรรมหนังสือจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-29 ตุลาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. (เฉพาะวันที่ 26 ตุลาคม จะเปิดให้เข้าชมเวลา 10.00-18.00 น.) มาร่วมเก็บความทรงจำและเพิ่มพูนความรู้ด้วยหนังสือดีๆ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้แล้วตั้งแต่วันนี้

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising