ผลการจัดเก็บรายได้จากรัฐวิสาหกิจ 4 เดือนแรกปีนี้ทะลุ 5 หมื่นล้านบาท เกินเป้าถึง 35% เปิดตัวเลขโบนัสอู้ฟู่ แจกสูงสุด 7.5 เดือน
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยตัวเลขการจัดเก็บรายได้จากรัฐวิสาหกิจ 4 เดือนแรก (ตุลาคม 2560 ถึง มกราคม 2561) พบว่า เดือนมกราคมที่ผ่านมา จัดเก็บรายได้ที่ 7.2 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ที่ตั้งไว้ และรายได้แผ่นดินสะสม 4 เดือนมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเกือบ 1.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 35%
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สะสมสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
- สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
- ธนาคารออมสิน
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
สคร. ให้เหตุผลว่า เนื่องจากประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้น โดยนำระบบไอทีมาปรับปรุงกระบวนการทำงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้น
เปิดโผโบนัส ทอท. ปตท. จ่ายสูงสุด 7.5 เดือน
อย่างไรก็ตาม มีการนำเสนอข่าวการจ่ายเงินโบนัสของกลุ่มรัฐวิสาหกิจปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่าตัวเลขค่อนข้างสูง โดยระบุว่า รัฐวิสาหกิจที่จ่ายโบนัสสูงสุดถึง 7.5 เดือนมี 2 แห่ง คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยจ่ายไปแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2560 ซึ่งตัวเลขนี้เท่ากับโบนัสที่จ่ายเมื่อปลายปี 2559
อีกแห่งคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่าแบ่งการจ่ายเป็น 2 ส่วนคือ เงินพิเศษตามผลการประเมิน (เคพีไอ) ของพนักงาน 1-1.5 เดือน จ่ายไปแล้วเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2560 และอีกก้อนจ่ายโบนัสอีก 6 เดือน เมื่อเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 7.5 เดือน
ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คาดว่าทำกำไรได้เกือบ 1.2 หมื่นล้านบาท และได้รับคะแนนประเมินจากสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สูง จึงจ่ายโบนัส 6 เดือน และเงินเพิ่มอีก 1 เดือนรวมเป็น 7 เดือน ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่จ่ายโบนัส 6 เดือน
ส่วนโรงงานยาสูบในปี 2559 ผลประกอบการยาสูบใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คาดว่าการจ่ายโบนัสจะใกล้เคียงกับปี 2559 คือ 6 เดือน ส่วนธนาคารรัฐอย่างธนาคารออมสินประกาศว่าจะจ่ายโบนัสถึง 6 เดือน มากกว่าปี 2559 ที่จ่ายโบนัสที่ 5.3 เดือน
ข้อมูลข้างต้นคือการคาดการณ์จากแหล่งข่าวและสำนักข่าวอ้างอิงในขณะนี้ การพิจารณาจ่ายโบนัสถือเป็นนโยบายภายในของแต่ละองค์กรที่มีโครงสร้างการคำนวณที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม สคร. ให้เหตุผลว่า สภาพเศรษฐกิจดีขึ้นเกินคาด ผลประกอบการรัฐวิสาหกิจจึงดีขึ้นตาม และไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับการดำเนินการของบริษัทเอกชน